ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงของจีนให้คำมั่นระหว่างการปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจีนจะยุติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศ
และถึงแม้คำประกาศดังกล่าวอาจทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มพอมีความหวัง แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญอย่างน้อยในสามด้านซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในขณะนี้
เนื่องจากขณะนี้จีนเป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านการเงินรายสำคัญสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทั่วโลกซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ดังนั้นคำประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงว่าจีนจะเลิกสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศดังกล่าวจึงเป็นข่าวค่อนข้างดีที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพอใจ
และมีหลายคนที่หวังว่าเรื่องนี้จะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนก่อนการประชุมของสหประชาชาติที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งประเทศต่างๆ จะหารือเกี่ยวกับเป้าหมายเพื่อช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย
อย่างไรก็ตามคำมั่นสัญญาของผู้นำจีนต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเป็นเพียงคำกล่าวสั้นๆ และยังไม่มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังไม่ค่อยมั่นใจ และผู้ที่อยู่ในวงการชี้ว่าขณะนี้มีคำถามสำคัญอยู่สามข้อที่จะช่วยให้คำตอบว่านโยบายเรื่องโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินของจีนจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมของโลกได้จริงหรือไม่
ประการแรกสุด คำประกาศของผู้นำจีนยังไม่ได้ระบุเวลาของนโยบายนี้ว่าจะเริ่มเมื่อใดและทำโดยทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความสำคัญเพราะโดยปกติแล้วโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินนั้นจะมีอายุใช้งานได้หลายสิบปี อย่างไรก็ตามข่าวค่อนข้างดีก็คือในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้แผนงานหนึ่งแถบหนึ่งถนนของจีนยังไม่ได้ให้เงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในประเทศใดที่เกี่ยวข้องเลยนับตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงตรุกี
คำถามสำคัญข้อที่สองก็คือการยุติการให้เงินทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศนั้นจะจำกัดอยู่เฉพาะจากภาครัฐของจีนหรือรวมถึงภาคเอกชนด้วย และคุณเควิน กาลาเกอร์ ผู้อำนวยการของศูนย์นโยบายเพื่อการพัฒนาระดับโลกของมหาวิทยาลัยบอสตันชี้ว่าหากนโยบายนี้ครอบคลุมถึงเงินทุนจากภาคเอกชนด้วยแล้วก็จะส่งผลได้กว้างไกลมากกว่า
แต่ถึงกระนั้นก็ตามคุณจูดิธ ชาร์ปีโร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของ American University ก็ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่สามารถควบคุมธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีเหตุผลจูงใจทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด และขณะนี้เงินทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศนั้นส่วนหนึ่งมาจากแหล่งเงินทุนนอกประเทศไม่ได้มาจากภาคเอกชนภายในประเทศของจีนเสียทั้งหมด
ประการท้ายสุด ถึงแม้จีนจะยุติความสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศก็ตามแต่คำถามที่ยังมีอยู่ก็คือจีนจะเลิกพึ่งพาการใช้ถ่านหินในประเทศได้หรือไม่ เพราะตัวเลขจากองค์กรวิจัยชื่อ Ember ในกรุงลอนดอนแสดงว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาจีนใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นสัดส่วนถึง 53% ของที่ใช้ทั้งหมดในโลก
และในปีที่ผ่านมานี้จีนได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในประเทศมากกว่าจำนวนที่สร้างในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกถึงกว่าสามเท่าตัว นอกจากนั้นคุณจูดิธ ชาร์ปีโร จาก American University ยังชี้ด้วยว่าปัญหาโรคโควิด-19 ได้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลในหลายจังหวัดของจีนต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการไฟฟ้าพลังถ่านหินและการจะยกเลิกแหล่งพลังงานที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิจัยจึงเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจสามารถช่วยอธิบายได้ว่าทำไมจีนจึงยังเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเพียงประเทศเดียวที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และคำถามต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่าจีนจะสามารถควบคุมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปีค.ศ. 2030 และเป็นประเทศที่มีฐานะเป็นกลางด้านก๊าซคาร์บอน หรือ carbon neutral ภายในปี 2060 ได้จริงหรือไม่ด้วย
ที่มา: VOA