เศรษฐกิจจีนจ่อแซงสหรัฐฯ ในปี 2030

Chinese and U.S. flags displayed at the 2021 China International Fair

Your browser doesn’t support HTML5

China Economy Take Over US


เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2030 จากการลงทุนของภาครัฐ การพัฒนาเทคโนโลยี และการบริโภคในประเทศ

บริษัทที่ปรึกษา Center for Economics and Business Research (CEBR) ของอังกฤษคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ในฐานะระบบเศรษฐกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2030 โดยอาศัยการลงทุนจากภาครัฐ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้จ่ายภายในประเทศแทนการผลิตเพื่อส่งออกเหมือนที่ผ่านมา

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ผู้นำจีนได้พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาภาคบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นแทนที่จะพึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนที่เคยเป็นในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ และความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรวมทั้งการต้องปิดโรงงานจากโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ว่านี้ด้วย

รายงานของบริษัท McKinsey & Co. ประจำปี 2021 ระบุว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนเป็นส่วนใหญ่ในช่วงก่อนปี 2021 และเนื่องจากจีนมีประชากรมากกว่าของสหรัฐฯ ถึง 3.5 เท่าตัว ถึงแม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะมีกำลังซื้อมากกว่าก็ตาม

นักวิเคราะห์บางคนอย่าง Rajiv Biswas ของบริษัท IHS Markit จึงเชื่อว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญนั้นจะยังดำเนินต่อไป

นอกจากนั้นสำนักข่าวซินหัวยังรายงานเมื่อกลางปีที่แล้วว่า ผู้นำของจีนตั้งเป้าจะสร้างงานในเขตเมืองขึ้นอีกกว่า 11 ล้านตำแหน่งเพื่อขยายตลาดการบริโภคภายในประเทศและการลงทุน รวมทั้งเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้กลับไปคึกคักเท่ากับในระดับก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ด้วย

ถ้าเทียบในแง่ของผลผลิตทางเศรษฐกิจแล้ว บริษัท IHS Markit ประมาณว่าจีนมีมูลค่า GDP ราว 18 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วในขณะที่สหรัฐฯ มีผลผลิตทางเศรษฐกิจรวม 23 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วเช่นกัน

แต่ Denny Roy นักวิจัยอาวุโสของ East-West Center ในนครฮอนโนลูลูบอกว่า จีนมีข้อได้เปรียบในแง่ของเงินทุน การมีอำนาจควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งการมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐเพื่อลงทุนในเรื่องที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติและเป้าหมายในระดับโลก และสถาบันคลังสมองอีกแห่งของสหรัฐฯ คือ Atlantic Council ก็ระบุในรายงานเมื่อเดือนตุลาคมว่า การควบคุมธุรกิจต่างๆ ของจีนนั้นอยู่ในระดับสูงและนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงคือการให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าผู้นำของจีนจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะการพัฒนาฮาร์ดแวร์ซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะจีนมีทรัพยากรบุคคลที่เป็นวิศวกรอยู่มากมายถึงแม้อาจจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ไม่เท่าในประเทศตะวันตก

ทั้งนี้ตามการประเมินของ Douglas McWilliams ผู้ก่อตั้งและรองประธานกรรมการของบริษัทวิจัย CEBR ส่วน Zennon Kapron ผู้อำนวยการบริษัทวิจัย Kapronasia ก็ชี้ว่า หากจีนสามารถพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี ได้จากการช่วยเหลือของภาครัฐแล้วเรื่องนี้ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของจีนด้วย

แต่ถึงแม้จะเป็นที่คาดกันว่าจีนจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2030 นั้น คำถามก็คือ เรื่องนี้จะส่งผลอะไรเพราะนักเศรษฐศาสตร์ได้ชี้ว่าการมีฐานะเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกไม่ได้สร้างความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นเสมอไป และ Douglas McWilliams จากบริษัทวิจัย CEBR ก็ชี้ว่า ไม่ได้มีการมอบรางวัลเหรียญทองคำสำหรับตำแหน่งนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนั้นย่อมหมายถึงการมีเงินทุนที่จะใช้ได้มากขึ้นเพื่อสร้างอิทธิพลในเรื่องต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น จีนจะสามารถผลักดันแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ Belt and Road Initiative ของตนได้มากขึ้นเพื่อการลงทุนและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา นอกจากนั้นจีนจะยังสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจของตนในกรณีพิพาทกับประเทศอื่นๆ เช่นในทะเลจีนใต้

Denny Roy ของ East-West Center ชี้ว่า การก้าวขึ้นแซงหน้าสหรัฐในฐานะประเทศซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนั้นได้เป็นเป้าหมายอยู่ในนโยบายต่างประเทศของจีนมานานแล้ว โดยจีนต้องการใช้เรื่องดังกล่าวเพื่อลดบทบาทความสำคัญด้านการเป็นผู้นำทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ ลง และจีนก็คาดหวังด้วยว่า จะสามารถกำหนดกฏเกณฑ์และระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นใหม่ได้ด้วยตัวเอง