นักวิเคราะห์มองจีนใช้โอกาสวิกฤตโควิด-19 ขยายอำนาจและอิทธิพลในเอเซีย

China India Border Clash

Your browser doesn’t support HTML5

China Covid-19

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารจีนปะทะกับทหารอินเดียที่แนวพรมแดนบริเวณเทือกเขาหิมาลัย โดยอินเดียระบุว่ามีทหารของตนเสียชีวิต 20 นาย ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดระหว่างประเทศทั้งสองในรอบ 45 ปี

และเมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลปักกิ่งก็ประกาศจะใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่สำหรับฮ่องกง หลังจากมีท่าทีค่อนข้างสงบนิ่งจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดสนใจจากนานาประเทศ

ส่วนในเดือนเมษายน เรือลาดตระเวนของจีนก็ชนกับเรือประมงเวียดนามลำหนึ่งใกล้หมู่เกาะพาราเซลล์ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกันอยู่ ทำให้เรือของเวียดนามจมลง

นอกจากนั้นก็มีรายงานด้วยว่า เรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของจีนล่วงล้ำเข้าไปในน่านน้ำของมาเลเซีย เพื่อติดตามเรือสำรวจแหล่งพลังงานใต้ทะเลของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซียด้วย

เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่า จีนกำลังฉวยโอกาสขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยุ่งเรื่องการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ในประเทศของตน เพื่อแสดงอำนาจและพยายามขยายอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ และในภูมิภาคอื่นของเอเชีย ในลักษณะของการเผชิญหน้าแบบตัวต่อตัว ถึงแม้จีนจะเสนอให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กับหลายประเทศในเอเชียในเวลาเดียวกันก็ตาม

นายไมเคิล กรีน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ว่า รูปแบบพฤติกรรมดังกล่าวของจีนเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด โดยคุณไมเคิล กรีน ผู้เคยทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกด้วยว่าตอนนี้จีนเห็นว่าเป็นช่วงเวลาของโอกาส ขณะที่หลายประเทศในเอเชียกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ

คุณไมเคิล กรีน มีความเชื่อเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ อีกหลายคนที่ว่าจีนได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์กำลังยุ่งกับการแก้ปัญหาหลายอย่างในประเทศ และจะไม่สามารถหรือไม่พร้อมที่จะระดมความสนับสนุนจากพันธมิตรต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เพื่อต้านทานอำนาจจีนในขณะนี้ได้ ดังนั้น ปักกิ่งจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าจากการใช้ท่าทีเผชิญหน้าหรือคุกคามประเทศซึ่งอ่อนแอกว่าด้วย

และนายแพททริค โครนิน นักวิเคราะห์คนหนึ่งของสถาบัน Hudson Institute ก็บอกว่าเรื่องที่จีนหวั่นเกรงก็คือ การที่ประเทศต่าง ๆ สามารถรวมตัวกันเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จีนกลัวก็ไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะระดมความสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพันธมิตรอย่างได้ผลนั่นเอง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังใช้ยุทธศาสตร์การประจัญหน้าและท้าทายอำนาจประเทศต่าง ๆ ที่เล็กกว่าในเอเชีย เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมและช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศขณะนี้

ส่วนพลเรือเอกเจมส์ สตาฟริดิส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนาโต้ของสหรัฐฯ ก็มองว่า การขยายอิทธิพลของจีนในช่วงนี้สอดคล้องกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ หรือแผนงานหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวนของจีน ที่เริ่มจากทะเลจีนใต้ไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ต่อเนื่องไปถึงคาบสมุทร Horn of Africa ด้านที่ติดกับทะเลแดง เพื่อเชื่อมต่อกับทวีปยุโรปในที่สุด