Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วงไม่กี่สับดาห์ที่ผ่านมา ออสเตรเลียและอินเดียได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมเข้าทำงานเป็นสมัยที่สอง นักวิเคราะห์มองว่า จีนได้จับตามองการเลือกตั้งของทั้งสองประเทศนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กับจีนมาโดยตลอด เพื่อจะดูว่าจีนจะสามารถโน้มน้าวให้ออสเตรเลียและอินเดียหนุนหลังนโยบายสำคัญ ๆ ของจีนได้หรือไม่
เดือนพฤษภาคมนี้มีการเลือกตั้งใหญ่ในเอเชียถึงสองประเทศ คือการเลือกตั้งในออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งผลก็ออกมาแล้วว่า ทั้งสองประเทศได้ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมเข้ามาทำงานอีกสมัย โดยออสเตรเลียได้เลือกนายสก็อต มอร์ริสัน ส่วนอินเดีย เทคะแนนให้นายนเรนดรา โมดี อย่างท่วมท้น
จีนได้จับตามองการเลือกตั้งของสองประเทศนี้อยู่ เพราะจีนต้องการให้ออสเตรเลียและอินเดียหนุนหลังนโยบายสำคัญ ๆ ของจีน เช่น เรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประเด็นหัวเหว่ย ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หรือโครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน
SEE ALSO: วิเคราะห์: จีนหวัง “โชว์พลังการเมือง” ที่การประชุมโครงการ “หนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน”
จีนมองว่า หากจีนได้รับการหนุนหลังจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อิทธิพลของจีนในเวทีโลกก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า ออสเตรเลียและอินเดียไม่น่าจะสนับสนุนจีนในเรื่องที่จีนให้ความสำคัญเหล่านั้น ถึงแม้อาจจะมีข้อยกเว้นในบางเรื่อง
ในฝั่งออสเตรเลียนั้น ถือได้ว่า ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนไม่ราบรื่นนัก
เมื่อไม่นานมานี้ สื่อของรัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจที่นายมอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้พูดว่า จีนนั้นเป็น “ลูกค้า” ส่วนสหรัฐฯ นั้น เป็น “มิตร” ของออสเตรเลีย โดยเขาได้กล่าวระหว่างการหาเสียงว่า “จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญมาก ๆ ต่ออนาคตของออสเตรเลีย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีน นั้น แตกต่างจากความสัมพันธ์ที่ออสเตรเลียมีกับสหรัฐฯ”
นายริชาร์ด แมคโกรเกอร์ นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบัน Lowy Institute ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย มองว่า จีนไม่ควรจะเอาคำพูดของนายมอร์ริสันมาตีความเกินไป เพราะนายมอร์ริสันน่าจะใช้คำผิดมากกว่าที่จะหมายความตามนั้น และเขาก็ไม่คิดว่านายกฯ ของออสเตรเลียผู้นี้ จะพูดพาดพิงจีนในลักษณะนั้นอีก
นักวิเคราะห์มองว่า ออสเตรเลียจะยังคงสนับสนุนสหรัฐฯ ต่อไป ด้วยเหตุผลภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านจีน ที่เดินหน้าขยายฐานและกองกำลังทหารในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าหลักของออสเตรเลียเช่นกัน
SEE ALSO: ออสเตรเลียสั่งสกัด 2 โทรคมนาคมจีน ระงับบริการเครือข่าย 5Gออสเตรเลียยังเป็นประเทศแรกที่่ปิดประตูแบนเทคโนโลยี 5จี ของหัวเหว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าคงเป็นเรื่องยาก ที่ออสเตรเลียจะเปลี่ยนใจ
จีนอาจจะมีความหวังมากกว่ากับอินเดีย
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้ส่งสาสน์แสดงความยินดีกับ นายนเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ในโอกาสที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง โดยนาย สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้นายโมดี มาร่วมกับจีนในการส่งเสริมการกระจายอำนาจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความหลากหลายในสังคม
นักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณจาก นาย สี จิ้นผิง ให้อินเดียมาร่วมต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ
ในปีนี้ ผู้นำของจีนและอินเดียยังมีแผนที่จะพบปะกันมากขึ้นอีกด้วย
นายโมดีได้เชิญให้ นายสี จิ้นผิงมาเยือนเมืองพาราณสี ทางตอนเหนือของอินเดีย เพื่อพบปะหารือกันอย่างไม่เป็นทางการในเดือนกันยายน ทั้งสอง ได้พบปะกันอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกที่เมือง อู ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปีก่อน
ในขณะที่หลายประเทศต่อต้านหัวเหว่ย อินเดียเลือกที่เปิดประตูให้หัวเหว่ยเข้าไปทดลองเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูงระบบ 5G ในประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน อินเดียอาจจะไม่สามารถสนับสนุนจีนได้ทุกเรื่อง
SEE ALSO: วิเคราะห์: เมื่อ 'อินเดีย' จับมือ 'เวียดนาม' คานอำนาจจีนในทะเลจีนใต้
โครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวนของจีน ก็เป็นโครงการหนึ่งที่นายโมดีต้องระมัดระวัง เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของอินเดีย โดยคนอินเดียนั้น มองว่าจีนคือพี่ใหญ่ที่คอยปกป้องปากีสถาน เพื่อนบ้านและคู่ปรับสำคัญของอินเดีย ในระหว่างการหาเสียง นายโมดี ก็มักจะอ้างว่าผู้ก่อการร้ายจากปากีสถานเป็นคนสร้างความวุ่นวายในอินเดีย
จีนนั้น ต้องการระดมเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านท่าทีที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายการค้า ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่ออินเดียและหลายประเทศทั่วโลก
นักวิเคราะห์มองว่าที่ผ่านมา “อินเดียมักจะเลือกวางตัวเป็นกลาง โดยไม่เข้าข้างจีนหรือสหรัฐฯ”
ผู้นำจีนอย่างนายสี จิ้นผิง จะโน้มน้าวให้นายโมดี สนับสนุนจีนได้หรือไม่นั้น ยังเป็นคำถาม ที่ทุกคนต้องจับตามอง