เจาะลึกกรณีจีนพ่วง 'เทคโนโลยีไฮเทค' เพื่อส่งเสริมการขายอาวุธให้กับประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทย

FILE - Chinese sailors salute on top of a Chinese submarine.

Your browser doesn’t support HTML5

จีนพ่วงเทคโนโลยีไฮเทคเพื่อส่งเสริมการขายอาวุธให้กับไทยและประเทศอื่นๆ

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ในฮ่องกง รายงานว่า บริษัทค้าอาวุธของจีนหลายแห่งพยายามจูงใจลูกค้าด้วยการเสนอบริการหลังการขาย และให้เทคโนโลยีเพิ่มเติม

สื่อฮ่องกงฉบับนี้ระบุว่า เมื่อปลายเดือนที่แล้ว บริษัทของทางการจีน China Shipbuilding Industry Corporation และกองทัพไทย ตกลงที่จะร่วมมือพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางทหารด้วยกัน

ความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว ไทยจ่ายเงินซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 393 ล้านดอลลาร์จากจีน

แหล่งข่าวภายในกองทัพจีนบอกกับ South China Morning Post ว่า การซื้อเรือดำน้ำครั้งนั้นมาพร้อมกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีเฉพาะของจีนบางรายการด้านการต่อเรือ เช่นทรัพย์สินทางปัญญาของจีนสำหรับการผลิตเรือดำน้ำให้กับไทย

แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวว่า จีนยังจะช่วยไทยเพิ่มศักยภาพพิเศษในการสร้างเรือ และอาจทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุว่า จีนจะขายระบบขับเคลื่อนที่เรียกว่า Air-Independent Propulsion หรือ AIP ขั้นสูงให้กับกองทัพเรือไทย และอาจแบ่งปันความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเลี่ยงถูกตรวจจับเรือรบด้วย

เทคโนโลยี AIP ของจีนจะสามารถช่วยให้เรือดำน้ำรุ่น 039A ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ปฏิบัติการในความลึกพิเศษเป็นเวลานานถึงสามสัปดาห์ในแต่ละครั้ง

อย่างไรตาม ระดับการถ่ายโอนความรู้นี้จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการต่อเรือของไทยด้วย

South China Morning Post สัมภาษณ์ หลี่ จี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทหารของจีน ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และยุโรปดึงดูดลูกค้าอาวุธด้วยการพ่วงบริการพิเศษเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีพร้อมกับการขายอาวุธมานานแล้ว แต่จีนเพิ่งมาเริ่มใช้เทคนิคการขายแบบเดียวกันในตอนนี้

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนการขายอาวุธให้ไทย เพราะไทยมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันโครงการ ‘หนึ่งถนน หนึ่งวงแหวน’ ของจีน ที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Road and Belt Initiative’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนและไทย

โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากสื่อ IHS Jane’s Defense Weekly รายงานว่า บริษัทจีนที่ชื่อ China Shipbuilding and Offshore International Company วางแผนที่จะเปิดศูนย์ที่เมืองไทย เพื่อสนับสนุนด้านวิศวกรรมและบริการอื่นๆ ให้กับกองทัพไทย ซึ่งถือเป็นบริการหลังการขายของบริษัท

สำหรับในส่วนอื่นๆ ของโลก เมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน บริษัทของรัฐบาลจีน China Aerospace Science and Technology Corporation ลงนามความร่วมมือกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตโดรน Rainbow 4 ที่มีศักยภาพจู่โจมในตะวันออกกลาง ซึ่งโรงงานลักษณะเดียวกันนี้ของจีน ยังพบได้ในประเทศปากีสถานและเมียนมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของจีนอีกรายหนึ่ง โจว เชนหมิง กล่าวว่า รูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีน ในการสร้างภาพลักษณ์สินค้าอาวุธของจีนในตลาดโลก

เขากล่าวว่า ต้นทุนการผลิตอาวุธของจีนเพิ่มขึ้น และทำให้อาวุธจากจีนมีราคาสูงกว่าคู่แข่งจากยุโรปตะวันออก เช่น บัลกาเรีย ยูเครน และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งสามารถขายอาวุธได้เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลางช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากจีนในภูมิภาคนี้

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ หนังสือพิมพ์ South China Morning Post)