Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยในสหรัฐได้พัฒนาวิธีทดสอบอย่างง่ายเพื่อดูว่าสารเคมีชนิดใดมีผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพเนื่องจากยังมีสารเคมีอีกหลายพันชนิดที่ยังไม่ได้รับการทดสอบว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่
ปัจจุบันมีสารเคมีมากกว่า 80,000 ชนิดในตลาดผู้บริโภคทั่วโลก สารเคมีเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการผลิตสินค้ามากมายตั้งเเต่ยารักษาโรค ยาฆ่าเเมลงไปจนถึงสารกันน้ำและสารกันไฟในเฟอร์นิเจอร์และพรมปูพื้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีสารเคมีน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของสารเคมีทั้งหมดที่ใช้ในการค้า ที่ได้รับการทดสอบว่าไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหากถูกต้องกับร่างกายเป็นระยะเวลานานเนื่องจากการทดสอบสารเคมีต้องใช้เวลานานเเละเสียค่าใช้จ่ายสูง
ขณะนี้ ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Boston ได้พัฒนาวิธีการทดสอบที่ราคาไม่แพงเพื่อตรวจว่าสารเคมีหลายหมื่นชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่
คุณ Stefano Monti ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ Bioinformatics Program ที่มหาวิทยาลัย Boston รัฐ Massachusettesกล่าวว่าวิธีการทดสอบสารเคมีที่ทีมงานคิดค้นขึ้นนี้จะช่วยบรรดาหน่วยงานควบคุมการใช้สารเคมีเเละผู้ผลิตสารเคมีต่างๆ ตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีชนิดต่างในสายงานการผลิต
เขากล่าวว่าสมาชิกของทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการแพทย์และการสาธารณสุขกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานวิจัยสารเคมีอันตรายแห่งชาติได้ทำการทดสอบสารเคมีที่รู้กันดีว่าเป็นสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ ในหนูทดลองเป็นเวลาหลายสัปดาห์ นักวิจัยทำการบันทึกว่ามียีนตัวใดบ้างในหนูทดลองที่ได้รับการกระตุ้นจากสารเคมีดังกล่าวเเล้วนำไปเทียบกับผลกระทบระยะสั้นจากสารเคมีที่ปลอดภัยราว 100 ชนิดที่มีต่อหนูทดลอง
คุณ Monti กล่าวว่าการวัดระดับของผลกระทบจากการถูกต้องกับสารเคมีอย่างได้รับการควบคุม โดยเริ่มทำตั้งเเต่ต้น เป็นวิธีหนึ่งในการตรวจสอบว่าสารเคมีดังกล่าวก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่
เขากล่าวว่าวิธีการตรวจเเบบนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยระบุได้ว่าสารเคมีตัวใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมเพราะอาจเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
มีสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ได้รับการทดลอบเเล้วรวมทั้งสาร benzene ที่รู้กันอยู่เเล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งในเลือดและมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ตลอดจนสารโพลีคลอริเนตเตดไบฟีนีลที่รู้จักกันดีในนามสารพีซีบีเอส เป็นสารอันตรายที่ตกค้างเป็นเวลานานในสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เคยนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าเช่นตัวทรานสฟอร์มเม่อร์และเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งสมองและมะเร็งตับ
นอกเหนือจากประโยชน์ของวิธีการทดสอบนี้ในการตรวจสอบสารเคมีก่อมะเร็งแล้ว คุณ Stefano Monti หัวหน้าทีมนักวิจัยชี้ว่าทีมนักวิจัยต้องการเข้าใจว่าสารเคมีอันตรายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งได้อย่างไร
เขากล่าวว่ายังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นในยีนที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารเคมีในการทดลองในห้องทดลองจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งในที่สุดหรือไม่