Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาวิจัยชี้ คนตัวสูงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากกว่า เนื่องจากมีเซลล์ในร่างกายมากกว่า
ความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็งของคนเราจะเพิ่มขึ้น 10% ต่อความสูงทุกๆ 10 เซนติเมตร (4 นิ้ว) เนื่องจากมีเซลล์ในร่างกายมากกว่าซึ่งอาจทำให้เซลล์กลายพันธุ์และก่อให้เกิดมะเร็งได้
ความสูงเฉลี่ยที่ระบุไว้ในการศึกษานี้คือ 162 ซม. (5 ฟุต 4 นิ้ว) สำหรับผู้หญิงและ 175 ซม. (5 ฟุต 9 นิ้ว) สำหรับผู้ชาย
การค้นพบครั้งนี้ตรงกับการวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสูงกับความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพรวมไปถึงปัญหาเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ และโรคเบาหวานที่เพิ่มมากขึ้น
เลโอนาร์ด นันเนย์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งซึ่งมีมากกว่า 10,000 คนทั้งชายและหญิงและเปรียบเทียบตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ โดยยึดเอาส่วนสูงเป็นหลัก
เขาได้ทดสอบสมมติฐานระหว่างจำนวนของเซลล์กับสมมติฐานอื่นๆ เช่นความแตกต่างของฮอร์โมนที่มีได้ในคนตัวสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มอัตราการแบ่งตัวของเซลล์
หลังการวิเคราะห์ นักวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างจำนวนเซลล์ทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ และความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งในผู้ป่วย 18 ใน 23 รายที่เข้ารับการทดสอง
การศึกษาวิจัยนี้ยังพบว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น มีมากกว่าในบรรดาสุภาพสตรี กล่าวคือผู้หญิงที่ส่วนสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป 12% ส่วนผู้ชายที่ตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า 9% ผลการวิจัยเหล่านี้สอดคล้องกับตัวเลขที่ศาสตราจารย์นันเนย์คาดการณ์ไว้ คืออัตราความเสี่ยงที่มีมากกว่าคนทั่วไปของหญิง และ ชาย ที่ตัวสูง คือ 13% และ 11% ตามลำดับ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งที่ไตและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อยู่ในกลุ่มของมะเร็งที่มีความเกี่ยวพันกันมากที่สุดในการศึกษานี้
คุณจอร์เจียน่า ฮิลล์จากศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง ประเทศอังกฤษซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่านักวิจัยทราบดีว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกับส่วนสูงมาเป็นเวลานานแล้ว คือยิ่งสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นเท่านั้น
แต่สิ่งที่นักวิจัยยังไม่แน่ใจก็คือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเพราะคนสูงกว่ามีเซลล์ในร่างกายมากกว่า หรือจะด้วยการเชื่อมโยงทางอ้อม เช่นโภชนาการ และการใช้ชีวิตในวัยเด็ก ก็ตาม
คุณจอร์เจียน่า กล่าวอีกว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดเกี่ยวกับทฤษฎี "ผลโดยตรง" ที่ว่าจำนวนเซลล์ทั้งหมดในร่างกาย มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
แต่เธอก็ตั้งข้อสังเกตว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดจากการที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิต
กล่าวคือ ความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับสิ่งที่สำคัญมากกว่าที่จะต้องปฏิบัติให้เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เช่นการหยุดสูบบุหรี่ และการพยายามควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดี
นักวิจัยพบว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งผิวหนัง จะไวต่อการเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าที่คาดคิดไว้และศาสตราจารย์นันเนย์ กล่าวส่งท้ายว่าอาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่นภูมิศาสตร์ ที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งด้วย