การเรียนต่อในต่างประเทศ ช่วยให้นักศึกษาอเมริกันประหยัดเงินได้จริงหรือ?

ขณะที่เอ็มมา ฟรีเออร์ เป็นนักเรียนระดับมัธยมปลายชั้นปีสุดท้ายเมื่อปี 2011 เธอรู้สึกไม่ได้สนใจวัฒนธรรมในรั้วมหาวิทยาลัยในแบบอเมริกันนัก ทั้งการเข้าชมรม การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล และการต้องเข้าเรียนหลายวิชาเพื่อให้จบการศึกษา แม้ว่าพ่อแม่ของเธอจะเก็บเงินพอส่งเธอเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในรัฐโอไฮโอที่เธออาศัยอยู่ก็ตาม

ฟรีเออร์ตัดสินใจไปศึกษาต่างประเทศแทน เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ สกอตแลนด์ เมื่อปี 2016 ในระดับปริญญาโทด้านภาษาอังกฤษและมานุษยวิทยา โดยไม่มีหนี้กู้ยืมด้านการศึกษาเลย ซึ่งเธอกล่าวว่า เธอได้รับการศึกษาชั้นเยี่ยมที่สกอตแลนด์และได้เรียนรู้การอยู่ในต่างประเทศและวัฒนธรรมใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ชาวอเมริกันให้ความสนใจกับการศึกษาในต่างประเทศมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าค่าเล่าเรียนในต่างแดนมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ข้อมูลของบริษัท Universities and Colleges Admissions Service ซึ่งจัดการระบบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ เผยว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอังกฤษมีผู้สมัครเข้าศึกษาต่อชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นถึง 49% ตามรายงานของเอพี

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังศึกษาต่อในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึง 50% ในช่วงปี 2020-2021 จากข้อมูลของ Campus France ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของฝรั่งเศสที่สนับสนุนการศึกษาขั้นสูงในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ และการค้นหาคำว่า “มหาวิทยาลัยต่างประเทศ” ด้วยกูเกิ้ลในสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นยังประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆ นอกจากค่าเล่าเรียน โดยเอพีได้รวบรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่อการศึกษาในต่างประเทศดังต่อไปนี้

ค่าเล่าเรียน

ค่าเล่าเรียนในต่างประเทศนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเมือง ประเทศ และประเภทของสถานศึกษา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2014 เยอรมนียกเว้นค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐสำหรับนักศึกษาทุกคน รวมถึงนักศึกษาต่างชาติ แต่นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ อาจต้องจ่ายค่าเล่าเรียนถึงปีละ 53,900 ดอลลาร์

นักศึกษาชาวอเมริกันอาจขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ รวมถึงการขอกู้เงิน นอกจากนี้ หลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างชาติมักเป็นหลักสูตรสามปี ขณะที่ หลักสูตรเดียวกันในสหรัฐฯ ใช้เวลาสี่ปี ทำให้นักศึกษาที่เรียนในประเทศอื่น ๆ สามารถประหยัดค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายไปได้ถึงหนึ่งปี

FILE - A man walks in front of the buildings of Oxford University, amid the spread of the coronavirus disease (COVID-19) in Oxford, Britain, Oct. 6, 2020.

ค่าครองชีพ

เช่นเดียวกับค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละเมืองและประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อค่าที่อยู่อาศัย อาหาร และค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่น ๆ นอกจากค่าเล่าเรียน

ยกตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ยกเว้นค่าเล่าเรียนให้นักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม แต่นักศึกษาอาจมีค่าใช้จ่ายเดือนในการดำรงชีพเดือนละ 1,260 ดอลลาร์ จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยเบอร์เกนในนอร์เวย์

ขณะเดียวกัน โปรตุเกสกลับมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่านอร์เวย์ถึงครึ่งหนึ่ง โดยสถาบัน Institute of Applied Psychology ในกรุงลิสบอนของโปรตุเกส ระบุว่า นักศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละประมาณ 640 ดอลลาร์เท่านั้น

อัตราแลกเปลี่ยน

อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอาจทำให้การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายตลอดการศึกษาเป็นเรื่องยาก ตามความเห็นของเจสสิกา แซนด์เบิร์ก คณบดีด้านการรับนักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยดุ๊ค คุนชาน ในเมืองคุนชาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ร่วมก่อตั้งโดยมหาวิทยาดุ๊ค รัฐนอร์ทแคโรไลนา และมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นของจีน

ฟรีเออร์ ชาวอเมริกันที่จบการศึกษาจากสกอตแลนด์ กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อครั้งที่เธอศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์นั้นไม่ดีนัก โดยเมื่อเธอโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารสกอตแลนด์ บางครั้งค่าเงินจะเหลือเพียงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลลาร์ ทำให้การจ่ายค่าเล่าเรียนในวันที่ต่างกันจะทำให้เธอเสียเงินต่างกันถึงหลายร้อยดอลลาร์ และเธอต้องทำงานตลอดช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนเพื่อเก็บเงิน

เอพีแนะนำว่า นักศึกษาอเมริกันในต่างประเทศควรมีแผนการใช้เงินที่ยืดหยุ่นได้เพื่อรับมือกับค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง และควรพิจารณาศึกษาในประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นประโยชน์กับตน

skyscrapers of the "Moscow City" are reflected in a glass window of an exchange office with the screen shows the currency exchange rate of the Russian ruble and U.S. dollar, Euro in Moscow, Russia, Tuesday, April 21, 2020. The Russian ruble fell Tuesday, driven down by a drop in oil prices. (Andrei Nikerichev, Moscow News Agency photo via AP)

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หลายประเทศกำหนดให้นักศึกษาเสียค่าใช้จ่ายรายปีเพื่อเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายหลักร้อยดอลลาร์ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาอเมริกันรายหนึ่งรักษาอาการข้อมือหักในเนเธอร์แลนด์โดยไม่ได้ต้องจ่ายเงินเพิ่มเลย

ค่าเดินทาง นักศึกษาที่ต้องการใช้เวลาว่างเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ควรกันงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้ เนื่องจากเหตุฉุกเฉิน เช่น หากสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย อาจทำให้นักศึกษามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

เดวิด ฮอว์กินส์ ผู้ก่อตั้ง The University Guys บริษัทให้คำปรึกษาด้านการเช้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แนะนำว่า นักศึกษาควรกันเงินเก็บไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและต้องเดินทางกลับบ้านโดยด่วน นอกจากนี้ การใช้บัตรเครดิตสำหรับนักศึกษาในต่างแดนโดยเฉพาะ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางบางส่วนเช่นกัน

ค่าวีซ่า ประเทศส่วนใหญ่กำหนดให้นักศึกษาต้องมีวีซ่านักเรียนหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ แม้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจไม่สูงนัก แต่ซานดรา เฟิร์ธ นักวางแผนการศึกษาและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษา World Student Support กล่าวว่า การสมัครเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวอาจต้องมีการยื่นหลักฐานการเงินประกอบ

ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษกำหนดให้ผู้ยื่นหลักฐาน ต้องมีเงินเก็บพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนในปีแรกได้ รวมทั้งเงินอีกราว 11,200 ดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ

แซนด์เบิร์ก แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก คุนชาน กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายของนักศึกษานั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินของแต่ละคน ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยขึ้นอยู่กับการวางแผนและการตัดสินใจใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ

  • ที่มา: เอพี