Your browser doesn’t support HTML5
โฆษกกัมพูชาเริ่มใช้แนวทางแบบเดียวกับรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ จัดการกับสื่อมวลชนต่างๆ หลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อมวลชนต่างประเทศ ขณะที่องค์กรด้านเสรีภาพสื่อมวลชนระหว่างประเทศระบุว่า เป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของการรักษามาตรฐานความมีเสรีภาพสื่อในสหรัฐฯ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะเรียกสื่อหรือนักข่าวที่รายงานข่าวไม่ถูกใจตัวเองว่า Fake News หรือ ข่าวปลอม และเรียกสื่อมวลชนเหล่านั้นว่า ‘เป็นศัตรูของประชาชน’ ทั้งในทวิตเตอร์ส่วนตัว และในการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวอยู่บ่อยครั้ง
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวยังห้ามผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวหลายสำนัก รวมไปถึง CNN และ New York Times ไม่ให้เข้าร่วมการแถลงข่าวของโฆษกทำเนียบขาว จนกลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่รับรองในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
แต่แนวทางดังกล่าว กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้รัฐบาลกัมพูชาหันมาทำเป็นแบบอย่างบ้าง
นายไพ สิพาน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา แถลงในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะต้องออกมาจัดการกับสื่อบางสำนักที่คุกคามความสงบและมั่นคงของประเทศ
โดยอ้างถึงแนวทางของทำเนียบขาวที่เริ่มมาตรการจัดการกับสื่อ ซึ่งได้ส่งสารที่ชัดเจนว่า "การรายงานของข่าวบางสำนักไม่ได้สะท้อนหรือรายงานข่าวตามความเป็นจริง"
นอกจากนี้ยังอ้างคำกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ระบุว่า "ไม่เชื่อว่าสื่อมวลชนจะรายงานข่าวตามความเป็นจริง" ทั้งๆ ที่เป็นความรับผิดชอบในความเป็นมืออาชีพของนักข่าว
โฆษกรัฐบาลกัมพูชายังระบุรายชื่อสำนักข่าวที่ตกเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลกัมพูชาจะจัดการ คือ สำนักข่าวว้อยส์ ออฟ อเมริกา (VOA) และ เรดิโอ ฟรี เอเชีย (RFA) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของสหรัฐฯ รวมไปถึงสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตย หรือ Voice of Democracy และสถานีวิทยุขององค์กรเอกชนในกัมพูชา
ที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญของกัมพูชาจะให้การรับรองการมีเสรีภาพของสื่อ แต่สื่อส่วนใหญ่ในกัมพูชาต่างอยู่ในการควบคุมและจับตาโดยรัฐบาลภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ระบุว่า โฆษกรัฐบาลกัมพูชาได้กล่าวเตือนไปถึงสื่อกัมพูชาที่ทำงานเป็น ‘สายลับต่างประเทศ’ ว่าให้ไปทบทวนตัวเอง ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้านนาย Jing Zhang รักษาการณ์ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ของว้อยส์ ออฟ อเมริกา บอกว่า "วีโอเอเป็นองค์กรที่มุ่งรายงานข่าวสารที่เป็นกลาง เป็นธรรม และรอบด้าน ขณะที่ผู้ชมผู้ฟังของวีโอเอที่อยู่ในกัมพูชานับล้านๆ คน ต่างทราบดีถึงจริยธรรมในการทำหน้าที่สื่อของวีโอเอ"
นาย Tom Malinowski อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการส่งเสริมประชาธิปไตยและการใช้แรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการเช่นกัมพูชา ในเมื่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยกลับทำเป็นแบบอย่างเสียเอง"
และว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ขณะนี้นักเผด็จการจากทั่วโลกซึ่งปกติมักจ้องเล่นงานหรือจัดการกับสื่อ จะพูดได้ว่า ในเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ สามารถทำได้ พวกเขาก็ทำได้เช่นกัน"
รายงานจากคณะกรรมการปกป้องสื่อระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน เตือนว่า ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคของการคุกคามสื่อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
และการที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ล้มเหลวในการรักษามาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้นักเผด็จการทั้งหลาย หันมาใช้อำนาจที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสื่อในประเทศต่างๆ มากขึ้น