พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party – CPP) ของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศชัยชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งที่ปราศจากคู่แข่งในวันอาทิตย์ อันจะเปิดทางให้ผู้นำรัฐบาลเขมรได้โอนถ่ายอำนาจของหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ปกครองประเทศนานที่สุดในโลกรายนี้ไปยังทายาทของตนในเร็ว ๆ นี้แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่เกิดขึ้นวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นเป็นกระบวนการที่เริ่มขึ้นและจบลงโดยไม่มีใครแปลกใจที่ชัยชนะจะตกเป็นของพรรค CPP ของนายกฯ ฮุนเซน ที่ปกครองประเทศด้วยความแข็งกร้าวด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างเด็ดขาดมาเป็นเวลาหลายทศวรรษจนทำให้คู่แข่งต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้วนับร้อยคน
รอยเตอร์รายงานว่า ในปีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาระบุว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ประมาณ 84% หรือคิดเป็นจำนวนประชาชนราว 8.1 ล้านคนที่ได้ออกมากาบัตรเลือกระหว่างพรรค CPP หรือคู่แข่งอีก 17 พรรคที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่รายงานข่าวชี้ว่ามีลับลมคมในอยู่ไม่น้อย
Your browser doesn’t support HTML5
และหลังปิดหีบ โฆษกพรรค CPP สก อีสาน กล่าวว่า “เราชนะแบบถล่มทลาย ... แต่เรายังไม่สามารถคำนวณตัวเลขเก้าอี้ (ส.ส.) ได้”
ก่อนหน้านี้ ฮุน เซน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมา 38 ปี ออกมาบอกปัดประเด็นความกังวลของชาติตะวันตกเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ หลายฝ่ายมองว่า ผู้นำกัมพูชานั้นมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางแผนการโอนถ่ายอำนาจที่คิดคำนวณมาอย่างดีแล้วให้กับ ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของตน
รายงานข่าวระบุว่า ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับแผนการส่งมอบอำนาจของฮุน เซน อย่างน้อยจนถึงวันพฤหัสบดี ขณะที่ ผู้นำกัมพูชาวัย 70 ปีส่งสัญญาณไว้แล้วว่า ฮุน มาเนต ที่ดำรงตำแหน่งนายพลของกองทัพเขมร “น่าจะพร้อมขึ้นเป็น” นายกรัฐมนตรีในเดือนหน้า
ในทางทฤษฎี ฮุน มาเนต ต้องได้ครองที่นั่งในสภาแห่งชาติเพื่อจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขมรพร้อมใจกันหนุนหลัง และในเวลานี้ โฆษกพรรค CPP สก อีสาน ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า “มีความชัดเจนมากแล้ว” ว่า ทายาททางการเมืองของผู้นำเขมรได้คะแนนเสียงมากพอที่จะเข้าเป็นสมาชิกสภา
ที่ผ่านมา ฮุน มาเนต เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไม่กี่รายเท่านั้น และไม่มีใครพอจะคาดการณ์วิสัยทัศน์ของเขาในการปกครองกัมพูชาที่มีประชากรราว 16 ล้านคนเท่าใดเลย
ฮุน มาเนต จบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐฯ ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 1999 ก่อนจะไปศึกษาในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ โดยทั้งหมดนี้ ทำให้เขาสามารถทะยานขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกและรองผู้บัญชาการกองกำลังกัมพูชาได้อย่างไม่ยาก
การเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่ทั่วโลกจับตาดูอย่างใกล้ชิด
หลายประเทศเฝ้าคอยจับตาดูสัญญาณว่า ฮุน มาเนต จะคงไว้ซึ่งสถานภาพการเป็นเผด็จการเหมือน ฮุน เซน หรือจะเลือกเดินหน้าตามเส้นทางการเปิดเสรีและความเป็นประชาธิปไตยแบบชาติตะวันตกกันแน่
ผู้สื่อข่าวพยายามสัมภาษณ์ว่าที่นายกฯ เขมรคนหลังหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันอาทิตย์ แต่ ฮุน มาเนต ก็เลี่ยงไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและทิศทางการปกครองกัมพูชาของตน โดยตอบเป็นภาษาอังกฤษเพียงว่า “ขอไม่ให้ความเห็นนะครับ ผมเพียงมาลงคะแนนเสียงเท่านั้น”
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในกัมพูชานั้นจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเปิดโอกาสให้ ฮุน มาเนต ได้ใช้เวลาทำให้ประชาชนและผู้นำทางการเมืองยอมรับความชอบธรรมในตัวเขาอย่างเต็มที่
ประเด็นหนึ่งที่หลายคนจับตาดูคือ นโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของ ฮุน มาเนต ว่า จะถอยห่างออกจากอิทธิพลจีนและหันมาประสานรอยร้าวกับสหรัฐฯ จากภาวะความสัมพันธ์สั่นคลอนตลอดช่วงที่ ฮุน เซน ปกครองประเทศด้วยแนวทางกำปั้นเหล็กหรือไม่และอย่างไร
ฮุน เซน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกกองโจรเขมรแดง ถูกนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ กล่าวหาว่า ทำการข่มขู่คู่แข่งและปลุกระดมให้เกิดการใช้ความรุนแรงตลอดเวลา จนกระทั่ง คณะกรรมการกำกับดูแล (oversight board) ของบริษัท เมตา แพลตฟอร์มส (Meta Platforms) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) แนะนำให้มีการระงับการใช้บัญชีของผู้นำเขมรเป็นการชั่วคราว แม้รัฐบาลกรุงพนมเปญจะเฝ้าปฏิเสธว่า ตนไม่ได้ทำการข่มเหงรังแกคู่แข่งทางการเมืองเลยก็ตาม
การท้าทายและคำขู่
คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาได้ออกคำสั่งห้าม สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศและพันธมิตรอีก 16 รายไม่ให้เข้าร่วมการเลือกตั้งเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ด้วยเหตุผลว่า บุคคลเหล่านี้ทำการเรียกร้องให้ประชาชนทำลายบัตรเลือกตั้งเพื่อแสดงจุดยืนประท้วง
ชาวกัมพูชาบางรายทำตามคำเชิญชวนของผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาจริงและถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งของตนที่ฉีกทิ้งก่อนจะโพสต์ขึ้นสื่อสังคมออนไลน์กันแล้ว และบางคนก็เขียนข้อความด่าทอ ฮุน เซน และเรียกผู้นำเขมรว่า เป็นคนขี้ขลาด ขณะที่ มีผู้โพสต์ภาพบัตรเลือกตั้งที่มีข้อความว่า “ยูเอ็น โปรดช่วยเราด้วย” ออกมาด้วย
สม รังสี ทวีตข้อความออกมาด้วยว่า “เรื่องน่าประหลาดใจประจำวันก็คือ ตัวเลขและเปอร์เซนต์ของบัตร ‘เสีย’” และว่า “คุณไม่สามารถชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีฝ่ายค้านได้”
และขณะที่ พรรค CPP เดินหน้าจัดการกับองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง หน่วยงานจัดการเลือกตั้ง และการที่มีนักเคลื่อนไหวออกมากล่าวหาพรรครัฐบาลนี้ว่า สมรู้ร่วมคิดในการยึดที่ดินรวมทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด พรรคนี้ยังคงมีชัยในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ห่างไกลมาตลอด โดยดูได้จากการที่โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
จุดขายสำคัญของพรรค CPP นั้นคือ ประเด็นการรักษาสันติภาพและความมีเสถียรภาพ หลังกัมพูชาผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งสงครามที่ดำเนินมานานนับทศวรรษ และนโยบายดังกล่าวก็ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ถึงกว่า 7% ในปี ค.ศ. 2019 ทั้งยังช่วยสร้างงานมากมายในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการผลิตสิ่งทอด้วย
สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ ฮุน เซน ออกมาให้ความเห็นว่า จำนวนผู้มีสิทธิ์ที่ออกมาเลือกตั้งซึ่งอ้างว่า สูงสุดที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายตรงข้าม “หัวรุนแรงสุดโต่ง” ของเขาประสบความล้มเหลวในการก่อกวนให้การเลือกตั้งหยุดชะงัก และเรียกร้องผู้ที่ทำลายบัตรเลือกตั้งไม่ให้หลบหนีออกนอกประเทศ แต่ให้ออกมาเปิดเผยตัวตนด้วย
ผู้นำกัมพูชาระบุผ่านแอปเทเลแกรมว่า “เรารู้จักหน้าตาพวกคุณแล้ว” และว่า “อย่ากลัวไปเลย ออกมาแสดงตัวและสารภาพเถอะ ... มิฉะนั้น จะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย”
- ที่มา: รอยเตอร์