Your browser doesn’t support HTML5
สื่อ “พนมเปญโพสต์” กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา “ซื้อไล้ค์ (Like)” บนเฟสบุ๊ค ซึ่งโฆษกรัฐบาลปฏิเสธคำครหานี้ทันทีที่ตกเป็นข่าว
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศว่ายอดไล้ค์ของหน้าเฟสบุ๊คตนเองแตะระดับสามล้านไล้ค์ และบอกด้วยว่าความดังของตนบนโลกโซเชี่ยลมีเดีย น่าจะทำให้เขาเป็น “นายกรัฐมนตรีเฟสบุ๊ค” ได้
สื่อ “พนมเปญโพสต์” ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ไลค์เหล่านั้นอาจได้มาจากการซื้อหรือไม่? หลังจากที่นายกฮุนเซนเพิ่งเปิด account เฟสบุ๊คเมื่อประมาณหกเดือนก่อน แต่ยอดคนเข้ามากดไล้ค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแซงหน้านายสม รังสีที่มีคนนิยมสองล้านสองแสนคน
ทั้งๆ ที่นายสม มี account เฟสบุ๊คมาแล้วอย่างน้อยห้าปี!
หนังสือพิมพ์ “พนมเปญโพสต์” อ้างข้อมูลวิเคราะห์จาก socialbacker.com ซึ่งชี้ว่า ในบรรดาผู้ไล้ค์หน้าเฟสบุ๊คของนายกฯฮุนเซน มีเพียงร้อยละ 20 ที่อยู่ในกัมพูชา
คนที่เข้ามาไล้ค์ส่วนมากเป็นคนที่อยู่ในประเทศที่ไม่น่าจะมีเหตุผลมากมายที่จะสนับสนุนผู้นำเขมร
“พนมเปญโพสต์” รายงานว่าไล้ค์จำนวนมากในช่วง 30 วันมาจากอินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า อินโดนีเซีย ตุรกี และ บางรายมาไกลจากเม็กซิโกก็มี
Chok Sopheap ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์ Center for Human Rights ในกัมพูชากล่าวว่า ตนรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นรายงานข่าวนี้ และว่าประเด็นดังกล่าวตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของฟังก์ชั่นไล้ค์ของเฟสบุ๊ค
เขากล่าวว่า ตนเชื่อว่านักการเมืองบางคนและสถาบันบางแห่งใช้เงินโฆษณาตนเองเพื่อเพิ่มความโด่งดัง
Chok Sopheap บอกด้วยว่าไม่ความใช้ความดังบนโลกโซเชี่ยลมีเดียมาวัดความนิยมของนักการเมือง แต่ควรดูถึงประสิทธิภาพในการทำงาน และเสริมว่าคนควรตระหนักว่าการได้ไล้ค์บนเฟสบุ๊คไม่ได้หมายความว่านักการเมืองได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประชาชน
ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชี่ยลมีเดีย Nget Moses บอกกับวีโอเอภาคภาษาเขมรว่าฟังก์ชั่น “boost” ของเฟสบุ๊คที่เก็บเงินผู้ใช้ สามารถช่วยให้โพสต์เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น แต่การซื้อไล้ค์โดยตรงทำไม่ได้
เขาบอกว่าหากทางการต้องการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รัฐบาลเขมรสามารถนำรายงานอย่างละเอียดของยอดไล้ค์มาเผยแพร่มาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบได้
ทั้งนี้เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจรับจ้างไล้ค์หรือที่เรียกว่า “ไล้ค์ฟาร์ม” เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวการใช้โซเชี่ยลมีเดียเพื่อเสริมความโด่งดังของบุคคลหรือสถาบัน “ไล้ค์ฟาร์ม” เหล่านี้รวมถึงการสร้าง account ปลอมโดยระบบคอมพิวเตอร์ และช่วยทำให้การ “boost” โพสต์บนเฟสบุ๊คดูได้ผลในเชิงตัวเลข
โฆษกพรรครัฐบาล Sok Eysan ปฏิเสธข้อครหาที่ว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนปั่นจำนวนไล้ค์ให้สูงเกินจริง เขากล่าวว่ามีคนบอกว่ารัฐบาลจ้างให้คนมาไล้ค์หน้าเฟสบุ๊คของผู้นำ แต่หากดูความเป็นจริง ตนเห็นว่าการให้คนที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามากดไล้ค์หน้าเฟสบุ๊คของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ไม่ได้สร้างประโยชน์ใดๆ จากการกระทำดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนซึ่งอยู่ในอำนาจมากว่า 30 ปี ประกาศไม่นานนี้ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเขียนร้องเรียนเรื่องต่างๆ หาตนได้โดยตรงบนเฟสบุ๊ค โดยนโยบายเชิงรุกบนโซเชี่ยลมีเดียนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปีหน้า
(รายงานโดย Neou Vannarin วีโอเอภาคภาษาเขมร http://www.voacambodia.com / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)