Your browser doesn’t support HTML5
ภายใต้โครงการรีไซเคิลเศษอาหารในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมนี้ แคลิฟอร์เนียจะไม่มีเศษขยะจำพวกเปลือกกล้วย กระดูกไก่ และเศษผักจากครัวเรือนเหลือทิ้งตามถังขยะอีกต่อไป
ความพยายามดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพื่อให้หลุมฝังกลบขยะในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของสหรัฐฯ แห่งนี้ปราศจากเศษอาหารที่สร้างความเสียหายต่อสภาพบรรยากาศในเวลาที่เน่าเปื่อยผุพัง เพราะเมื่อเศษอาหารและวัสดุอินทรีย์อื่นๆ สลายตัว จะมีการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายในระยะสั้นได้มากกว่าการปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษเหล่านั้น แคลิฟอร์เนียวางแผนที่จะเริ่มเปลี่ยนเศษอาหารของครัวเรือนให้เป็นปุ๋ยหมักหรือพลังงาน โดยชาวแคลิฟอร์เนียจะต้องทิ้งเศษอาหารส่วนเกินลงในถังขยะสีเขียวแทนที่จะทิ้งลงในถังขยะทั่วไป จากนั้นเทศบาลก็จะเปลี่ยนเศษอาหารเหล่านั้นให้เป็นปุ๋ยหมักหรือนำไปสร้างก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่คล้ายกับก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ แคลิฟอร์เนียจะกลายเป็นรัฐที่สองในสหรัฐฯ ที่ทำเช่นนั้นหลังจากที่รัฐเวอร์มอนต์เปิดตัวโครงการที่คล้ายกันนี้เมื่อปีที่แล้ว
Rachel Wagoner ผู้อำนวยการหน่วยงานรีไซเคิลของแคลิฟอร์เนีย หรือ California Department of Resources Recycling and Recovery กล่าวว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในเรื่องของขยะนับตั้งแต่เริ่มมีการแยกทิ้งขยะรีไซเคิลเมื่อปีค.ศ. 1980 และวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อช่วยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
การผลักดันของแคลิฟอร์เนียในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับที่เพิ่มมากขึ้นในเรื่องที่ว่าขยะอาหารมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมทั่วสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทิ้งขยะอาหารมากถึง 40% ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ
ขณะนี้มี รัฐและหลายประเทศต่าง ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส ได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้ร้านขายของชำและธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ รีไซเคิลหรือบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับองค์กรการกุศล แต่โครงการของแคลิฟอร์เนียมุ่งเน้นไปที่ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ
แคลิฟอร์เนียได้ผ่านกฎหมายนี้เมื่อปี 2016 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนด้วยการลดการทิ้งอาหารอย่างมีนัยสำคัญ เพราะวัสดุอินทรีย์ เช่น เศษอาหารและของเสียจากสวน คิดเป็นอัตราส่วนครึ่งหนึ่งของทุกอย่างในหลุมฝังกลบขยะในแคลิฟอร์เนีย และมีอัตราส่วนหนึ่งในห้าของการปล่อยก๊าซมีเทนของรัฐ ตามข้อมูลของ CalRecycle
เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป ทุกเมืองและทุกเคาน์ตี้ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ให้บริการเก็บขยะจะต้องมีโครงการรีไซเคิลเศษอาหาร และร้านขายของชำจะต้องบริจาคอาหารที่กินได้ ซึ่งมิฉะนั้นก็จะถูกโยนทิ้งไปยังธนาคารอาหารหรือองค์กรที่คล้ายกัน
Ned Spang หัวหน้าคณะทำงานที่แผนก Food Loss and Waste Collaborative ที่มหาวิทยาลัย University of California วิทยาเขตเดวิส กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องทิ้งเศษอาหารเหล่านี้ลงในหลุมฝังกลบขยะ แต่ที่มักทำเช่นนั้นเพราะเป็นวิธีที่ง่ายและมีราคาถูกนั่นเอง
รัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งมีประชากร 625,000 คน เทียบกับรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรเกือบ 40 ล้านคนเป็นเพียงรัฐเดียวที่ห้ามไม่ให้ทิ้งเศษอาหารลงในถังขยะ ภายใต้กฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2020 พลเมืองของรัฐนี้สามารถหมักขยะไว้ในสวนของตน แล้วเลือกที่จะให้คนมารับไปหรือนำไปทิ้งเองที่สถานีขยะ ส่วนเมืองอื่นๆ เช่น ซีแอตเทิลและซานฟรานซิสโกก็มีโครงการที่คล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้ กฎหมายของแคลิฟอร์เนียกำหนดไว้ว่าภายในปี 2025 รัฐจะต้องลดขยะอินทรีย์ในหลุมฝังกลบได้ 75% จากระดับในปี 2014 หรือจากประมาณ 23 ล้านตันเป็น 5.7 ล้านตัน
รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่จะอนุญาตให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ทิ้งอาหารส่วนเกินลงในถังขยะในสวนของบ้าน โดยบางครัวเรือนจะจัดเตรียมภาชนะวางไว้บนโต๊ะเพื่อเก็บเศษอาหารเป็นเวลาสองสามวันก่อนที่จะนำออกไปทิ้งนอกบ้าน บางพื้นที่อาจได้รับการยกเว้นในบางส่วนของกฎหมายฉบับนี้ เช่น พื้นที่ในชนบทที่มีหมีมาคุ้ยเขี่ยถังขยะ เป็นต้น
ขยะเศษอาหารที่ผู้คนนำมาทิ้งจะถูกนำไปที่โรงงานเพื่อทำปุ๋ยหมักหรือเปลี่ยนให้เป็นพลังงานผ่านการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างก๊าซชีวภาพที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นก๊าซธรรมชาติเพื่อให้ความร้อนและไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม โรงงานปุ๋ยหมักในแคลิฟอร์เนียยังต้องเผชิญกับกระบวนการขอใบอนุญาตที่เข้มงวดในการนำขยะอาหารไปทิ้งพร้อมๆ กับขยะสีเขียวแบบดั้งเดิม อย่างเช่น ใบไม้ และมีโรงงานเพียง 1 ใน 5 ของรัฐเท่านั้นที่สามารถรับขยะอาหารได้
นอกจากนี้แล้ว แคลิฟอร์เนียยังตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2025 ในการเปลี่ยนเส้นทางอาหาร 20% จากที่จะถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบไปเลี้ยงปากท้องผู้คนที่ขัดสนแทน บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต้องเริ่มบริจาคอาหารเหลือทิ้งในเดือนมกราคม และโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนสถานที่จัดงานใหญ่ๆ ก็จะเริ่มดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ในปี 2024
อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของแคลิฟอร์เนียในส่วนของการบริจาคอาหารนั้นคาดว่าจะช่วยให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลกลางในการลดขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งได้ภายในปี 2030
(ที่มา: เอพี)