นายกฯ เดวิด แคเมร่อน และพรรคอนุรักษ์นิยม ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วประเทศ ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยพรรคอนุรักษ์นิยมได้ที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งในสภาล่างหรือ House of Commons สูงกว่าที่โพลล์สำรวจทุกสำนักคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของนายกฯ David Cameron และพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งสร้างปรากฏการณ์เป็นพรรครัฐบาลพรรคแรกในรอบหลายสิบปีที่สามารถเพิ่มที่นั่งในสภาได้ในการเลือกตั้งรอบใหม่
นายแคเมร่อนเดินทางไปยังพระราชวังบัคกิ้งแฮมในวันศุกร์ เพื่อรับมอบพระราชกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการจากพระราชินี Elizabeth ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
ผู้นำพรรคแรงงานประกาศลาออก
ขณะเดียวกัน ผู้นำพรรคแรงงาน Ed Milliband ประกาศลาออกหลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้รับคาดหมายว่าอาจเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และตัวเขาเองอาจได้ดำรงตำแหน่งนายกฯคนใหม่
พรรคแรงงานได้ที่นั่งน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ต่างคาดไว้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ
และที่น่าตกใจไม่แพ้กัน คือพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาล คือพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่ได้ที่นั่งลดลงเกือบ 50 ที่นั่ง ทำให้เหลือที่นั่งไม่ถึง 10 ที่นั่ง ผู้นำพรรคและรองนายกฯ Nick Clegg ประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความตกต่ำของพรรคเช่นกัน
ปัจจัยทางเศรษฐกิจคือตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง
ศาสตราจารย์ Peter Urwin แห่ง University of Westminister บอกว่าผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ต่างคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงล่อแหลม ประกอบกับการฟื้นตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเทคะแนนให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมให้เป็นผู้นำพาประเทศฝ่าฟันภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังผกผันต่อไป
ขณะที่นักวิเคราะห์แห่งศูนย์วิจัย Chatham House นาย Quentin Peel เชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้รับชัยชนะ คือความกังวลในหมู่ชาวอังกฤษว่า พรรคแรงงานอาจต้องการแรงสนับสนุนจากพรรค Scottish National Party ของชาวสก็อต ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้ประเด็นการแยกสก็อตแลนด์เป็นประเทศอิสระถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง
ดังนั้นชาวอังกฤษจำนวนมากจึงพร้อมใจลงคะแนนให้พรรคอนุรักษ์นิยม
รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง