ผลสำรวจคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศในอังกฤษในวันพฤหัสบดี ชี้ให้เห็นว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯ David Cameron จะได้ที่นั่งใน House of Commons หรือสภาล่างของอังกฤษ ลดลงราว 20-30 ที่นั่งและอาจทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมสูญเสียการครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ แม้จะมีเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากพรรคพันธมิตรในขณะนี้ คือพรรคเสรีประชาธิปไตย
ส่วนพรรคแรงงานของนาย Ed Milliband ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบัน ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ที่นั่งพอๆ กับพรรคอนุรักษ์นิยม โดยนักวิเคราะห์คาดว่านาย Milliband จะสามารถหาพรรคพันธมิตรได้ง่ายกว่า และอาจจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ศาสตราจารย์ Tony Travers แห่ง London School of Economics ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดจะไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ศาสตราจารย์ Travers ระบุว่าหากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นจริง ก็จะเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพรรคแรงงานของนาย Ed Milliband ในการรวบรวมพันธมิตรเพื่อให้ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคที่พร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคแรงงานมากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยม
พรรคที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่จะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล คือพรรค Scottish National ของชาวสก็อต โดยหัวหน้าพรรคคือ Nicola Sturgeon ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า เธอจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางไม่ให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล
ด้านผู้เชี่ยวชาญการเมืองอังกฤษชี้ว่า จุดยืนที่ขัดแย้งของพรรคการเมืองต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสภา และทำให้รัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ไร้เสถียรภาพ อีกทั้งการที่พรรคแรงงานซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยแรงสนับสนุนของพรรค Scottish ก็หมายความว่าการผ่านร่างกฏหมายต่างๆ ทุกครั้งจะต้องมีการเจรจาต่อรอง หรือไม่เช่นนั้นชาวอังกฤษก็อาจต้องเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอีกครั้ง ก่อนที่สมาชิกสภาล่างชุดนี้จะหมดวาระลงในอีก 5 ปีข้างหน้า
ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาในความเห็นของชาวอังกฤษหลายคนที่เดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันพฤหัสบดี คุณ Linda หนึ่งในผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกล่าวว่า ปกติแล้วเธอเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอย่างมั่นใจว่าจะลงคะแนนให้ใคร แต่ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากเหลือเกิน
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยพรรคอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่า พรรคแรงงานเป็นผู้สร้างสมหนี้สินมหาศาลเอาไว้ในช่วงที่เป็นรัฐบาล จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี ค.ศ 2008 ขณะที่พรรคแรงงานก็โต้กลับว่านโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้บริการของภาครัฐลดลงมาก
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Simon Hix แห่ง London School of Economics ชี้ว่าทั้งสองพรรคมีจุดยืนด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างกันมาก ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ศาสตราจารย์ Simon Hix ระบุว่าพรรคอนุรักษ์นิยมมีนโยบายชัดเจนว่าจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตามเป้าหมายลดยอดขาดดุลงบประมาณลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่พรรคแรงงานต้องการให้มีการลดงบประมาณช้าลง และเพิ่มงบประมาณให้กับบริการด้านสาธารณสุขและบริการสังคมอื่นๆมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง
และเนื่องจากคะแนนที่เชื่อว่าจะสูสีกันมาก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะประกาศให้ทราบได้ในวันศุกร์นี้ และจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าที่ผู้นำพรรคต่างๆจะสามารถตกลงกันได้เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ผู้สื่อข่าว Al Pessin รายงานมาจากกรุงลอนดอน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง