อังกฤษ-อียู หวังเร่งสรุปเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ทันก่อนสิ้นปี

FILE - Anti-Brexit protester Steve Bray demonstrates outside the conference center where earlier Brexit trade deal negotiations were taking place, in London, Nov. 9, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

UK EU Trade Deal


สหภาพยุโรปคาดหวังว่าจะสามารถมีความคืบหน้าในการหารือประเด็นข้อตกลงการค้ากับอังกฤษได้ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยมีส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาคืออนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายจะออกมาในรูปแบบใด หลังจากที่อังกฤษได้แยกตัวออกไปแล้ว

หลังจากที่ผ่านการเจรจามานาน 4 ปี 5 เดือน อังกฤษและสหภาพยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าที่จะช่วยเลี่ยงกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งสองฝ่ายเมื่อกำหนดการเปลี่ยนผ่านสู่การแยกตัวของอังกฤษอย่างสมบูรณ์สิ้นสุดลง

ทั้งนี้ อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 31 มกราคมปีนี้ แต่ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจของอียูจนถึงสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ก่อนวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็มีโอกาสเกิดความวุ่นวายในการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากภาษีและอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่จะมีผลบังคับใช้ทันที

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อียูเกรงว่าการที่อังกฤษจะมีอิสระในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิติบุคคลในสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลอังกฤษเองก็มองว่า การแยกตัวหรือ Blexit ครั้งนี้ คือการดึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและการกำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างอิสระกลับคืนมาจากการควบคุมของสหภาพยุโรปเช่นกัน

ลีซานดร้า แฟลช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Ifo Center for International Economics ในเยอรมนี แม้ทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปต่างมีเดิมพันสูงยิ่งในข้อตกลงการค้านี้ แต่เชื่อว่าอังกฤษจะสูญเสียมากกว่าหากไม่สามารถจัดทำข้อตกลงได้ทันตามกำหนด เนื่องจากปัจจุบันอียูคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวต่อรัฐสภาก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ว่า “ข้อตกลงที่ดีกำลังรออยู่” แม้ว่ายังมีเงื่อนไขหลายอย่างจากทางสหภาพยุโรปที่อังกฤษยังไม่สามารถยอมรับได้ก็ตาม

นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจของอังกฤษจะสามารถเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะมีข้อตกลงการค้ากับอียูเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนคำกล่าวอ้างนี้จะไม่ตรงกับความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้ว่าการของธนาคารแห่งชาติของอังกฤษ ที่ต่างเชื่อว่าบริษัทอังกฤษซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 จะสูญเสียอย่างหนักหากไม่มีข้อตกลงกิดขึ้นจริง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากอังกฤษไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้ากับอียูได้ มูลค่าผลผลิตมวลรวมของอังกฤษจะลดลงราว 6% ในปีหน้า และจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นราว 300,000 คน อ้างอิงจากสำนักตรวจสอบงบประมาณของอังกฤษที่จัดทำรายงานประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลกรุงลอนดอน

เมื่อวันอังคาร นายกฯ จอห์นสัน ยอมรับว่าการจัดทำข้อตกลงการค้ากับอียูให้ลุล่วงนั้นเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้านนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ไมเคิล มาร์ติน กล่าวกับรัฐสภาเมื่อวันพุธเช่นกันว่า ขณะนี้มีโอกาสเพียง 50% ที่สหภาพยุโรปกับอังกฤษจะสามารถเจรจาสำเร็จ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจอห์นสันและประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน จะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่

ขณะนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หนึ่งคือสิทธิของชาวยุโรปในการทำประมงในเขตน่านน้ำของอังกฤษ สองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ สามคือการจัดการข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตามกระบวนการยุติธรรม

จากทั้งสามข้อที่ระบุมา ดูเหมือนข้อสองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ จะเป็นส่วนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันมากที่สุด เนื่องจากอียูต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทอังกฤษจะไม่มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งอื่น ๆ ในยุโรป โดยอียูยืนยันให้บริษัทอังกฤษอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมของอียู โดยเฉพาะในด้านสิทธิแรงงานและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทางผู้นำอังกฤษยืนยันว่าไม่สามารถรับเงื่อนไขนั้นได้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจอห์นสันไม่น่าจะยอมโอนอ่อนตามข้อเสนอของอียูโดยง่าย เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันจากการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาต้องการให้อังกฤษใช้แนวทางแข็งกร้าวมากกว่า ดังนั้นหากเขายอมประนีประนอมกับสหภาพยุโรปมากเกินไปก็อาจเผชิญแรงต้านรุนแรงภายในพรรคได้นั่นเอง