Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาชิ้นใหม่เรื่องผลกระทบทางสังคมของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร พบว่าอังกฤษเป็นประเทศที่แตกแยกและมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
รายงานชิ้นนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘UK in a Changing Europe’ พบว่า ความแตกแยกเกิดขึ้นกับคนที่เชื่อในแนวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด และสร้างความไม่ลงรอยกันในค่านิยมที่หลากหลาย เช่น เรื่องชนกลุ่มน้อย
หนึ่งในหัวหน้าคณะทำวิจัย ศาสตราจารย์ Anand Menon จากมหาวิทยาลัย Kings College London ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า การแบ่งแยกกันในสังคมเป็นที่เห็นประจักษ์ระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท ระหว่างคนทางเหนือและคนทางใต้
ขณะที่คนอังกฤษลงมติให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรป (อียู) คนสกอตแลนด์อยากให้อยู่เป็นสมาชิกต่อไป เช่นเดียวกันคนไอร์แลนด์เหนือ
การศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า ผู้ที่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียูเชื่อว่า การสร้างโอกาสให้เท่าเทียมสำหรับคนกลุ่มน้อยเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อยมากเกินไป แต่ในกลุ่มที่ต้องการให้อังกฤษอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อ เห็นว่าแนวทางสร้างโอกาสให้ประชาชนกลุ่มนี้ยังช่วยพวกเขาไม่พอ
ความแตกแยกนี้ไม่จำกัดอยู่ที่แนวทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อาจารย์ Menon บอกว่า เรื่องนี้คล้ายๆ กับความเห็นเรื่องโทษประหาร ที่คนมีความคิดต่างตามค่านิยมส่วนตัวมากกว่าความโน้มเอียงทางการเมือง
หลังการลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit เมื่อปี พ.ศ. 2559 จำนวนคดีอาญาที่มีเหตุผลมาจากความเกลียดชังในประเทศ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40
นักวิเคราะห์กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ถึงปัญหาทางสังคมที่หยั่งรากลึกจาก Brexit และการแตกแยกกันด้านค่านิยมช่วยอธิบายว่า เหตุใดการประสานรอยร้าวจึงเกิดขึ้นยาก
อาจารย์ Menon บอกว่า คนไม่เปลี่ยนใจง่ายๆ แม้ว่าเห็นว่า Brexit สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
เอกสารรัฐบาลที่สื่อนำมาเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ระบุถึงความเป็นไปได้ที่ Brexit อาจจะลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในระดับสูงสุด 8 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 15 ปีจากนี้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Henry Ridgwell)