Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันอังคาร สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษลงมติด้วยคะแนน 322 ต่อ 308 เสียงไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลอังกฤษตั้งเงื่อนเวลาไว้เพียงสามวันเพื่อให้สภาผ่านร่างกฎหมายชื่อ Withdrawal Agreement Bill
โดยร่างกฎหมายนี้มีความยาวรวม 115 หน้า และกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจะนำข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุด ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไปเจรจากับสหภาพยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปปฏิบัติ
และเมื่อวันเสาร์ที่เพิ่งผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ได้ลงมติให้ชะลอการออกเสียงยอมรับหรือปฏิเสธข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุดนี้ออกไปก่อน จนกว่าสภาจะมีเวลาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับรายละเอียดและการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของข้อตกลง Brexit ที่ว่านี้เช่นกัน
การที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษปฏิเสธการกำหนดเงื่อนเวลาสามวันจากรัฐบาลเพื่อให้ผ่านร่างกฏหมายที่จะกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติของ Brexit เมื่อวันอังคารนี้ ทำให้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นว่า Brexit อาจจะไม่เกิดขึ้นได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ตามที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ต้องการ และได้ประกาศไว้
เพราะ ส.ส. อังกฤษหลายคนเห็นว่า เวลาเพียงสามวันนั้นไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจและพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ของร่างกฎหมายเพื่อรองรับ Brexit ซึ่งมีความยาวถึงกว่า 100 หน้า และในทางกลับกัน รัฐบาลอังกฤษเองก็เกรงว่าถ้ายิ่งยืดเวลาออกไป ก็มีโอกาสมากขึ้นที่ร่างกฎหมายนี้จะถูกแก้ไขเปลี่ยนโฉมโดยสภา
และเมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวว่า หากสภาไม่พิจารณาผ่านร่างกฏหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติสำหรับข้อตกลง Brexit ตามที่ตนต้องการแล้ว ตนก็จะถอนร่างกฎหมายนี้จากสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีของอังกฤษอ้างว่า ในขณะนี้ทั้งประชาชนอังกฤษ สหภาพยุโรป รวมทั้งตนเอง ไม่ต้องการให้กำหนดการเรื่อง Brexit ต้องยืดเยื้อออกไปมากกว่านี้ และควรเร่งให้เรื่องนี้เกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ตุลาคมเ พื่อจะหันไปให้ความสนใจเรื่องอื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าพรรครัฐบาลอังกฤษมีเสียงข้างมากพอที่จะผ่านร่างกฎหมาย Withdrawal Agreement Bill เพื่อรองรับการปฏิบัติตามข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุดนี้ได้หรือไม่ ขณะที่เหลือเวลาอยู่เพียงไม่ถึง 10 วัน ก็จะถึงวันที่ 31 ตุลาคม
นอกจากนั้นแล้ว ความล่าช้าและการต้องเลื่อนกำหนด Brexit ออกมาหลายครั้งยังได้สร้างความผิดหวังให้กับทั้งสหภาพยุโรปด้วย
โดยนายฌอง คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมมาธิการยุโรป ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภายุโรปว่า ปัญหาชะงักงานเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ในสภาของอังกฤษ ทำให้สูญเปล่าทั้งเวลาและพลังงาน และรัฐสภายุโรปเองก็ไม่สามารถจะให้สัตยาบันรับรองข้อตกลง Brexit ที่รัฐบาลอังกฤษเจรจาไว้กับคณะกรรมาธิการยุโรปได้ จนกว่ารัฐสภาของอังกฤษจะเห็นชอบกับข้อตกลงเรื่องนี้ก่อน