ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเชื่อข้อตกลง Brexit จะไม่ผ่านสภาอังกฤษ

Anti-Brexit supporters hold European Union flags as they demonstrate outside the Houses of Parliament on Jan. 14, 2019.

ผลที่อาจตามมามีทั้งการแสดงประชามติครั้งใหม่ การออกเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาล และวิกฤติรัฐธรรมนูญ

Your browser doesn’t support HTML5

Britain Brexit

เมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีหญิง Teresa May ของอังกฤษ กล่าวปราศรัยกับคนงานที่แคว้น Wales ก่อนกำหนดการลงคะแนนครั้งสำคัญเรื่อง Brexit ในสภาว่า ถ้าเธอแพ้การลงคะแนนในวันอังคาร ผลที่อาจเกิดขึ้นคืออังกฤษจะต้องคงอยู่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป รวมทั้งอาจเกิดภาวะอัมพาตทางการเมืองในสภาได้ด้วย

แต่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลอังกฤษชุดปัจจุบันเอง เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นที่คาดหมายว่าข้อตกลงซึ่งนายกรัฐมนตรี Teresa May ใช้เวลาราวสองปีเจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้รับความสนับสนุนจากส.ส.ในสภา รวมทั้งจากส.ส.ในพรรครัฐบาลของเธอเองอย่างเพียงพอนั้น คงจะถูกโหวตตกไป ถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปจะพยายามให้ความมั่นใจเพื่อลดความวิตกกังวลและเสียงคัดค้านในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็ตาม

ตามข้อตกลง Brexit ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลังจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ไปแล้วอังกฤษจะยังมีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปอยู่ในรูปของ Custom Union หรือสหภาพศุลกากร เป็นเวลาหลายปี ขณะที่มีการเจรจาข้อตกลงถาวรขึ้นมาแทน

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลกรุงลอนดอนจะไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ของสหภาพยุโรปเลย และจะไม่มีโอกาสทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกสหภาพยุโรปด้วย

คำถามที่สำคัญขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรี Teresa May จะแพ้การลงมติในสภาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะแพ้ในระดับไหนมากกว่า

โดยนักวิเคราะห์การเมืองบางคนคาดว่า ความพ่ายแพ้จากการออกเสียงเรื่องข้อตกลง Brexit ครั้งนี้ อาจเป็นการปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลอังกฤษครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 95 ปี คือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2467 เป็นต้นมา ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษแพ้การลงคะแนนถึง 166 เสียงทำให้รัฐบาลต้องล้มครืนลง และต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่

และในครั้งนี้ ความพยายามของนายกรัฐมนตรี Teresa May ที่จะประสานความเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่ต้องการ Brexit หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป กับกลุ่มที่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่ต่อไปหรือ Remainer นั้น ดูยากเกินกว่าที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นได้

ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Teresa May ส.ส.หลายคน รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลเอง ก็กำลังเตรียมวางพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารของอังกฤษ เช่น ความพยายามลดอำนาจของรัฐบาลเรื่องการควบคุมการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ลง รวมถึงการเสนอกฎหมายที่จะให้มีการแสดงประชามติครั้งใหม่เรื่อง Brexit เป็นต้น

แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า หากมีความพยายามจากสภาเพื่อจำกัดหรือควบคุมอำนาจของรัฐบาลในการเสนอร่างกฎหมายแล้ว เรื่องนี้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติด้านรัฐธรรมนูญขึ้นได้ และผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือ ส.ส. John Bercow ประธานสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษคนปัจจุบัน ที่สนับสนุนให้อังกฤษคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไปและต้องการขยายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในขณะที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารลง

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่คัดค้านเรื่อง Brexit อีกสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งต้องการให้ระงับหรือเลื่อนตารางการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ออกไป เพื่อพยายามสร้างฉันทามติขึ้นใหม่ในหมู่สาธารณะชน

ขณะที่อีกกลุ่มนั้นต้องการกดดันให้มีการแสดงประชามติเรื่อง Brexit อีกครั้งหนึ่ง เพราะขณะนี้ผลการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษแสดงว่ากว่าครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งต้องการแสดงประชามติเรื่อง Brexit ครั้งที่สอง

และ ส.ส. Jeremy Corbyn ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ก็กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรี Teresa May แพ้การลงคะแนนในสภาเรื่องข้อตกลง Brexit ในวันอังคาร ตนก็จะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้บรรดาส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายสำคัญที่อังกฤษจะก้าวเดินต่อไป