ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อังกฤษมองหาภาพลักษณ์ใหม่ในเวทีโลกหลัง Brexit - ศึกษา 'สิงคโปร์โมเดล'


Britain Brexit
Britain Brexit

นักวิชาการชี้ว่า รัฐบาลอังกฤษพยายามสนองความคาดหวังเรื่องความรุ่งโรจน์ในอดีตด้วยคำขวัญ "Global Britain"

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:20 0:00

นาย Boris Johnson อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เคยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุน Brexit ไม่หวาดหวั่นเรื่องการสละโซ่ตรวนจากการคุมขังของสหภาพยุโรป และค้นหาโอกาสใหม่ที่สดใสกว่านอกทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดของนาย Boris Johnson ที่ว่านี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน

ส่วนนาย Gavin Williamson รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษคนปัจจุบันก็เรียกร้องให้อังกฤษฟื้นฟูความยิ่งใหญ่เหมือนที่เคยมีมาในอดีต และตั้งฐานทัพใหม่ทั้งในย่านทะเลแคริบเบียนและในภูมิภาคตะวันออกไกล เพื่อเสริมสร้างบทบาทของอังกฤษในเวทีโลกในฐานะผู้มีอิทธิพลในระดับโลกอย่างแท้จริง

แต่รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษก็ไม่สามารถให้รายละเอียดสำหรับคำถามที่ว่าวัตถุประสงค์ของฐานทัพใหม่เหล่านี้คืออะไร และเรื่องนี้จะมีผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าซึ่งอังกฤษจะต้องหามาทดแทนหลังจากที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแล้วอย่างไร

รวมทั้งไม่สามารถให้คำตอบเช่นกันว่า อังกฤษจะหางบประมาณจากที่ใดมาสนับสนุนการตั้งฐานทัพและเพิ่มบทบาททางทหารในเวทีโลกที่ว่านี้

ทางด้านนาย Jeremy Hunt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษคนปัจจุบัน ก็เสนอแนวคิดเรื่องการสร้างแบรนด์และบทบาทใหม่ของอังกฤษในช่วงหลัง Brexit เช่นกัน โดยระบุว่า อังกฤษควรศึกษา "สิงคโปร์" เป็นตัวอย่าง ในแง่ของระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีและมีการเก็บภาษีระดับต่ำเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอนาคต

แต่แนวคิดเรื่องรูปแบบใหม่ทางเศรษฐกิจสำหรับอังกฤษดังกล่าวก็ถูกโจมตีจากผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาว่า จะเป็นการย้อนเวลากลับหลัง และจะสร้างความถดถอยในด้านมาตรฐานแรงงานและระบบรัฐสวัสดิการให้กับสังคมอังกฤษเอง

เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างแนวคิดของนักการเมืองทั้งในและนอกรัฐบาลอังกฤษปัจจุบันที่สนับสนุนเรื่อง Brexit และต้องการให้มีการสร้างภาพลักษณ์ โฉมหน้า รวมทั้งบทบาทใหม่ของอังกฤษขึ้นมา หลังจากที่อังกฤษยกเลิกความผูกพันยาวนาน 45 ปีที่เคยมีกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดรายหนึ่งของอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงหลังเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 นี้

ในส่วนของรัฐบาลอังกฤษ นายกรัฐมนตรี Teresa May ได้สร้างคำขวัญว่า “Global Britain” หรืออังกฤษที่จะมีบทบาทสำคัญในระดับโลก โดยหวังว่าคำขวัญนี้จะเป็นเหมือนธงนำที่ช่วยให้ประเทศซึ่งกำลังมีความแตกแยกทางความคิดเรื่อง Brexit มีความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้

แต่การสร้างคำขวัญดังกล่าวดูจะง่ายกว่าความเป็นจริงด้านนโยบายและรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่าคำว่า Global Britain นี้จะมีความหมายอย่างไรทั้งในด้านการค้า ความมั่นคง และนโยบายต่างประเทศของอังกฤษเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ Thibaud Harrois จากมหาวิทยาลัย Sorbonne ในกรุงปารีส ตั้งข้อสังเกตว่า คำขวัญเรื่อง Global Britain ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Teresa May มีความมุ่งหมายเพื่อสนองตอบเสียงเรียกร้องและความคาดหวังของสาธารณชนซึ่งยังคงผูกติดอยู่กับภาพความรุ่งโรจน์ในอดีต ในเรื่องความเป็นมหาอำนาจของอังกฤษหลังยุค Brexit ไปแล้ว

โดยนักวิชาการของฝรั่งเศสผู้นี้ชี้ด้วยว่า การสร้างภาพลักษณ์ดังกล่าวยังห่างไกลจากหลักฐานข้อมูลที่จะช่วยสนับสนุนความเป็นจริงได้ และว่าการขาดนโยบายที่ชัดเจนทั้งทางด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของอังกฤษในปัจจุบัน ทำให้น่าเชื่อได้ว่าอังกฤษอาจตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวมากขึ้นบนเวทีโลกหลังช่วง Brexit ไปแล้ว

และว่าอังกฤษได้เสียที่ยืนของตนไป และอาจเป็นการยากที่จะหวนกลับคืนสู่อาณาจักรอันรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลอีกครั้ง

XS
SM
MD
LG