รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างความท้าทายอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ถึงแม้ทั้งสองประเทศต่างมีมุมที่ขัดแย้งกันอย่างเร่งด่วน ทั้งสหรัฐฯ และจีนก็ยังคงมีมุมที่ต้องร่วมมือกัน เช่น การรับมือภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนด้านสาธารณสุขโลก
คำกล่าวของรมต.บลิงเคน ครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการหารือกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ คอนโดลีซซา ไรซ์ ที่เมืองสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คือการแข่งขันในด้านต่าง ๆ และว่า "เราได้เห็นจีนที่เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศ และใช้ยุทธวิถีเชิงรุกมากขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งในหลายสถานการณ์ได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"
อย่างไรก็ตาม รมต.บลิงเคนย้ำว่า "ปัญหาสำคัญบางอย่าง" เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและสาธารณสุขระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีความรว่มมือระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในการจัดการแก้ไข
รัฐมนตรีบลิงเคน เน้นย้ำถึงสันติภาพและความมั่นคงข้ามช่องแคบไต้หวัน ท่ามกลางแนวทางที่เปลี่ยนไปของจีนที่มีต่อไต้หวัน สืบเนื่องจากท่าทีของจีนที่ต้องการควบรวมไต้หวันให้เร็วกว่าเดิม ซึ่งอาจรวมถึงการใช้กำลังทหาร
บลิงเคนเตือนถึงผลกระทบรุนแรงหากเกิดความขัดแย้งทางทหารข้ามช่องแคบไต้หวัน โดยระบุว่า "มีเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันในแต่ละวัน ซึ่งหากเกิดความชะงักงันในบริเวณนั้นเพราะวิกฤตทางทหาร จะมีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ จะเดือดร้อนอย่างมาก"
ข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเรือขนส่งสินค้าทั่วโลก และ 88% ของเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เดินทางผ่านช่องแคบไต้หวันในปีนี้
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุถึงอุตสาหกรรมการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ที่อาจหยุดชะงักหากเกิดวิกฤตข้ามช่องแคบไต้หวัน
โดยเมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กรุงปักกิ่ง โดยรับปากว่าจะปกป้องความมั่นคงแห่งชาติและเสถียรภาพทางสังคมของจีนอย่างเต็มที่ เสริมสร้างศักยภาพของกองทัพจีนยุคใหม่ และผลักดันให้มีการรวมดินแดนต่าง ๆ ซึ่งหมายความถึงการผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน
- ที่มา: วีโอเอ