Your browser doesn’t support HTML5
เป็นที่ทราบกันดีว่าสัตว์ป่าจะฟังเสียงซึ่งกันและกันเวลาเตือนภัยว่านักล่ากําลังเข้ามาใกล้ อย่างเช่น นกบางชนิดที่จะบินหนีไป เมื่อนกที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงส่งเสียงดังเพื่อเตือนให้รู้ว่ามีงูอยู่บริเวณนั้น
นกแฟรี เรน (Fairy wren) นกตัวเล็กๆ ที่มีเสียงไพเราะของออสเตรเลีย ไม่ได้รู้ภาษาของนกชนิดอื่นๆ มาแต่กําเนิด การศึกษาวิจัยครั้งล่าสุดชี้ว่า นกเหล่านี้สามารถเรียนรู้ความหมายของเสียงที่สําคัญๆ บางเสียงได้
คุณ Andrew Radford นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสทอล ประเทศอังกฤษ ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ช่วงต้นเดือนสิงหาคม บอกกับ Associated Press ว่า นักวิจัยทราบมาก่อนแล้วว่า สัตว์สามารถแปลความหมายภาษาของสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ แต่ไม่ทราบว่าการเรียนรู้ภาษานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งนกมีวิธีในการเรียนรู้ทักษะชีวิตหลายวิธี ความรู้บางอย่างได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ บ้างก็มาจากประสบการณ์ตรงบนโลก
แต่นักวิทยาศาสตร์กําลังสํารวจความรู้ประเภทที่สามที่เรียกว่า "ข่าวสารจากพวกพ้อง"
นักชีววิทยา Andrew Radford และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ร่วมทําการศึกษาในสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติของประเทศในแคนเบอร์รา นักวิจัยติดอุปกรณ์การผลิตเสียงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษที่เรียกว่า "tweeter speakers" ไว้กับตัวเอง เพื่อดูว่านกแฟรี เรน จะมีปฏิกิริยาต่อเสียงของนกชนิดอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะมองไม่เห็นตัวหรือไม่
นักวิทยาศาสตร์เริ่มเปิดเสียงนกสองชนิดที่พวกมันอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน เสียงที่หนึ่งเป็นเสียงเตือนของนกเงือก ซึ่งไม่ได้มีถิ่นกําเนิดอยู่ในออสเตรเลีย และอีกเสียงเป็นเสียงนกที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาที่เรียกว่า “buzz”
เมื่อนกแฟรี เรน ทั้ง 16 ตัวในการศึกษานี้ ได้ยินเสียงที่นักวิทยาศาสตร์เปิดเป็นครั้งแรก พวกมันไม่มีปฏิกิริยาพิเศษใดๆ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์พยายามฝึกนกครึ่งหนึ่งให้สามารถรับรู้เสียงร้องของนกเงือกว่าเป็นเสียงเตือน และพยายามฝึกนกอีกครึ่งหนึ่งให้รับรู้เสียง "buzz" ที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ว่าเป็นคําเตือน ด้วยการเปิดเสียงที่นอกเหนือไปจากเสียงอื่นๆ ที่นกรู้แล้วว่าเป็นเสียงเตือน รวมถึงเสียงร้องเตือนภัยคุกคามของนกแฟรี เรน เองด้วย
สามวันหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบว่านกเรียนรู้อะไรบ้าง ผลปรากฏว่า นกแฟรี เรน ที่ได้รับการฝึกด้วยเสียงร้องของนกเงือก บินหนีไปทันทีที่ได้ยินเสียง ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับการฝึกด้วยเสียง “buzz” ก็หนีไปเมื่อได้ยินเสียงนั้นเช่นกัน แต่นกทั้งสองกลุ่มไม่ทําปฏิกิริยากับเสียงของพวกมันเอง โดยนก 12 ใน 16 ตัวบินหนีไปทุกครั้งที่นักวิจัยเปิดเสียงที่ใช้ฝึกนก ส่วนนกอีก 4 ตัว บินหนีเพียงสองในสามครั้ง
Christopher Templeton นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแปซิฟิก ในฟอเรสโกรฟ รัฐโอเรกอน ผู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการศึกษานี้ นักวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับการที่สัตว์เรียนรู้ความหมายของเสียงร้องจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เพียงจํากัด
ส่วนคุณ Andrew Radford จากมหาวิทยาลัยบริสทอล กล่าวส่งท้ายว่าความสามารถในการเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงเสียงกับความหมายเข้าด้วยกัน ทําให้เกิดความรู้สึกทางชีวภาพ และว่า ถ้าคุณสามารถเรียนรู้ได้เฉพาะในเวลาที่นักล่าปรากฏตัว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย