นักวิทย์พบ เชื้อไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรก

นักวิทยาศาสตร์เข้าตรวจสอบซากแมวน้ำบนเกาะเซาท์จอร์เจีย ในขั้วโลกใต้

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ทำการวิจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกยืนยันในวันพฤหัสบดีว่า มีการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในแมวน้ำและแมวน้ำช้างบนเกาะเซาท์จอร์เจีย ในภูมิภาคแอนตาร์กติกใต้ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอันตรายให้กับเหล่านักอนุรักษ์ทั้งหลาย ขณะที่ โรคติดต่อร้ายแรงนี้ได้ฆ่าประชากรนกทั่วโลกไปหลายล้านตัวแล้ว

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มสงสัยว่า อาจมีไวรัสไข้หวัดนกใกล้ ๆ พื้นที่ขั้วโลกใต้ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2023 หลังพบว่ามีนกทะเลจำนวนมากตายบนเกาะนก (Bird Island) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชที่เป็นหนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ

ต่อมา ก็มีการพบว่า ประชากรแมวน้ำช้างเริ่มตายกันทีละหลาย ๆ ตัว

เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จาก Animal and Plant Health and Agency (APHA) และ British Antarctic Survey (BAS) ของอังกฤษ ใช้เวลา 3 สัปดาห์ตรวจสอบพื้นที่เกาะเหล่านี้และเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกที่ตายไปด้วย

ตัวอย่างทั้งหมดถูกนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ก่อนจะได้รับการยืนยันว่า มีเชื้อไข้หวัดนก HPAI H5N1 ในแมวน้ำช้าง แมวน้ำ นกสกัว นกนางนวลเคลป์ และนกนางนวลแกลมขั้วโลก ตามการเปิดเผยของนักวิทยาศาสตร์ในวันพฤหัสบดี

เอียน บราวน์ ผู้อำนวยการด้านบริการวิทยาศาสตร์ของ APHA กล่าวว่า เพราะขั้วโลกใต้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การค้นพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกนี้ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่ากังวลยิ่ง

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดังกล่าวบ่งชี้ว่า นกอพยพจากอเมริกาใต้น่าจะเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมายังเซาท์จอร์เจีย

อลาสแตร์ วอร์ด จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ให้ความเห็นว่า แมวน้ำที่เป็นสัตว์ที่กินซากสัตว์อาจติดเชื้อจากการกินซากนกที่มีเชื้อไข้หวัด H1N1 อยู่

ทั้งนี้ ยังไม่มีการพบว่า เพนกวินซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของขั้วโลกใต้ที่มีคนรู้จักมากที่สุดได้รับผลกระทบจากไวรัสนี้ โดยยังไม่มีรายงานการตายของเพนกวินเกินเกณฑ์ปกติในเวลานี้ด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์