สัตว์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเปิดเผยว่า มีการพบไข้หวัดนกในพื้นที่บางจุดของโลกที่ไม่เคยมีการระบาดของไวรัสประเภทนี้มาก่อน และได้กลายมาเป็นโรคประจำถิ่นหลังนกป่าบางประเภทแพร่เชื้อไวรัสให้กับเป็ดไก่ในพื้นที่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรกว่า 20 รายใน 4 ทวีป และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพบไวรัสไข้หวัดนกในนกป่าส่งสัญญาณบอกว่า การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์นี้จะไม่คลี่คลายในเร็ววัน ซึ่งหมายถึง ภัยคุกคามต่ออุปทานอาหารโลกไปโดยปริยาย
ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนด้วยว่า เกษตรกรต้องเริ่มมองดูปัญหานี้เป็นเหมือนความเสี่ยงรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทั้งปี แทนที่จะมามุ่งหาวิธีการป้องกันเฉพาะช่วงที่มีการอพยพของนกป่าเท่านั้น
รายงานข่าวระบุว่า การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของไข้หวัดนกนั้นแผ่ขยายไปยังพื้นที่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชียและแอฟริกาแล้ว และเกิดขึ้นแม้ในช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงในฤดูร้อน หรือลดลงรุนแรงในฤดูหนาว นับตั้งแต่มีการพบไวรัสดังกล่าวในสหรัฐฯ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2022 และมีการยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้าย ๆ กับที่พบในยุโรปและเอเชีย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อาร์เจนตินาและอุรุกวัยเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติด้านสุขาภิบาล หลังเจ้าหน้าที่ของตนยืนยันว่า พบการติดเชื้อไข้หวัดนก โดยอาร์เจนตินาพบไวรัสดังกล่าวในนกป่า ส่วนอุรุกวัยพบไวรัสในหงส์ที่ตายไปแล้ว
ผลกระทบของไข้หวัดนกที่ผ่านมาก็คือ ราคาไข่ที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่ เพราะการระบาดในปีที่แล้วส่งผลให้ไก่ไข่จำนวนหลายสิบล้านตัวตายไป
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นกป่า คือ ต้นเหตุหลักของการแพร่กระจายของไวรัส ขณะที่ นกน้ำต่าง ๆ เช่น เป็ด สามารถแพร่เชื้อได้ขณะยังมีชีวิตอยู่ ผ่านของเสียและน้ำลายที่มีเชื้อติดอยู่ เป็นต้น
ที่ผ่านมา ความพยายามของเกษตรกรในการป้องกันการแพร่เชื้อมายังฟาร์มของตนนั้นไม่ค่อยได้ผลเท่าใด
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท Rose Acre Farms ซึ่งเป็นผู้ผลิตไข่รายใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ สูญเสียแม่ไก่ที่เลี้ยงศูนย์ผลิตที่ กัทธรี เคาน์ตี้ (Guthrie County) ในรัฐไอโอวา ไปราว 1.5 ล้านตัว แม้จะมีการบังคับให้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่เลี้ยงต้องอาบน้ำชำระร่างกายเสียก่อน ส่วนฟาร์มอีกแห่งของบริษัทที่ เวลด์ เคาน์ตี้ (Weld County) ในรัฐโคโรลาโด ก็มีการพบการติดเชื้อถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งทำให้ไก่จำนวนกว่า 3 ล้านตัวตายไป
รายงานข่าวระบุว่า สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น คือ ประเทศที่อยุ่ในกลุ่มที่ประสบภาวะสูญเสียสัตว์ปีกหนักเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ มีการระบุว่า สัตว์ปีกในซีกโลกเหนือคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของไข้หวัดนกมากที่สุด เมื่อนกป่าเริ่มทำการอพยพในฤดูใบไม้ผลิ แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การพบไวรัสในสัตว์ปีกสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นกน้ำทั้งหลายและนกป่า หมายความว่า ความเสี่ยงของการพบการระบาดของไข้หวัดนกนั้นยกระดับขึ้นเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดได้ตลอดทั้งปีแล้ว
ทั้งนี้ ไวรัสไข้หวัดนกนั้นเป็นอันตรายถึงตายสำหรับสัตว์ปีก และหากมีการพบการติดเชื้อแม้แต่ตัวเดียว สัตว์ปีกทั้งฝูงก็จะต้องถูกกำจัดให้หมด ขณะที่ การฉีดวัคซีนนั้นก็ไม่ใช่ทางออกที่ทำได้ง่าย เพราะวิธีนี้อาจช่วยลดอัตราการระบาดได้ แต่ไม่สามารถกำจัดไวรัสได้หมด ทั้งยังอาจทำให้การตรวจสอบหาเชื้อทำได้ยากขึ้นด้วย
ปัญหาระดับโลก
เกรกอริโอ ตอร์เรส หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ของ World Organization for Animal Health ที่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส บอกกับรอยเตอร์ว่า นกป่านั้นเป็นตัวแพร่เชื้อไข้หวัดนกให้กระจายได้ไกลไปทั่วโลกกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะเมื่อตัวไวรัสกลายพันธุ์จากการระบาดครั้งก่อน ๆ มาเป็นแบบที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตอร์เรส ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปัจจุบัน ไวรัสไข้หวัดนกกลายมาเป็นไวรัสเฉพาะกลุ่มในนกป่าทั่วโลกแล้วหรือยัง แม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ จะยืนยันว่า ไวรัสนี้กลายมาเป็นโรคเฉพาะถิ่นของนกในบางพื้นที่ เช่น สหรัฐฯ แล้วก็ตาม
สำหรับความเสี่ยงต่อมนุษย์นั้น องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า มนุษย์สามารถติดเชื้อได้เมื่อสัมผัสก็สัตว์ปีกที่มีเชื้อ แต่ความเสี่ยงที่จะทำให้มนุษย์ป่วยหนักหรือเสียชีวิตนั้นอยู่ในระดับต่ำ
การระบาดข้ามประเทศ
เดวิด สตอลเนคท์ ผู้อำนวยการศูนย์ Southeastern Cooperative Wildlife Disease Study จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจีย กล่าวว่า ปริมาณไวรัสที่มีอยู่สูงในนกเป็ดน้ำปีกเขียว ซึ่งสามารถบินอพยพเป็นระยะทางที่ไกลได้ คือ ปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ในอเมริกาใต้ โดยมีรายงานการพบการระบาดแล้วที่ เปรู เอกวาดอร์ และโบลิเวีย ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของโบลิเวีย เปิดเผยว่า หลังมีการพบการระบาดครั้งแรกได้ 2 วัน รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของสัตว์เป็นเวลา 3 เดือนและจนถึงบัดนี้ มีสัตว์ปีกที่ตายเพราะไวรัสนี้ไปแล้วกว่า 1.1 ล้านตัว
ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดนกไปทั่วโลก เพราะสถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านถิ่นที่อยู่อาศัยและเส้นทางการอพยพของนกป่าต่าง ๆ
แครอล คาร์โดนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดนกและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตา ให้ความเห็นว่า “พลวัตของนกป่าที่เปลี่ยนไป ทำให้ไวรัสที่อาศัยอยู่ในนกเหล่านั้นปรับเปลี่ยนไปด้วย”
ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้เกษตรกรบางรายลองหันมาใช้วิธีแปลก ๆ เพื่อปกป้องฟาร์มของตน เช่น การใช้เครื่องจักรที่ส่งเสียงดังเพื่อทำให้นกป่าตกใจกลัวไม่เข้ามาใกล้ฟาร์ม ขณะที่ บางรายใช้วิธีฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อที่ของเสียของสัตว์ปีกในฟาร์มเพื่อฆ่าไวรัส พร้อม ๆ สั่งจำกัดจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม เป็นต้น
- ที่มา: รอยเตอร์