Your browser doesn’t support HTML5
กัมพูชายังเผชิญปัญหาด้านแรงงานเด็ก แม้ว่าข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติจะเปิดเผยว่าตัวเลขแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชา จะพบว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม
ข้อมูลจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ของสหประชาชาติ ระบุว่า พบรายงานการใช้แรงงานเด็กในโรงงานสิ่งทอกัมพูชาเพียง 10 คดี ลดลงจาก 74 คดีเมื่อ 4 ปีก่อน แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็ก กลับมองว่า แรงงานกลุ่มนี้เปลี่ยนจากการทำงานในโรงงานไปในภาคส่วนอื่น เช่น การทำงานในบ้านที่รับเหมากับงานเกี่ยวกับสิ่งทออีกทอดหนึ่ง
อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชามีการจ้างงานมากที่สุดกว่า 800,000 ตำแหน่ง และการส่งออกสิ่งทอทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี โดยกัมพูชาผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้กับแบรนด์ดังมากมาย อาทิ Gap, H&M, Nike, Puma และ Adidas
แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองเรื่องการใช้แรงงานเด็ก โดย ILO ระบุว่า แรงงานเด็กในกัมพูชามักจะมีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมักใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมเพื่อให้ได้งานทำในโรงงานสิ่งทอ นอกจากนี้ ยังพบว่า มีครอบครัวกัมพูชานับหมื่นครอบครัว ที่ยังตกอยู่ในวัฏจักรแรงงานทาส
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชา ประกาศแผนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จาก 170 ดอลลาร์ หรือราว 5,600 บาทต่อเดือน เป็น 182 ดอลลาร์ หรือราว 6,000 บาทต่อเดือน เริ่มต้นในเดือนมกราคมปีหน้า ขณะที่ H&M กล่าวว่าค่าแรงที่ตนจ่ายในกัมพูชาสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 24