หลังเกิดปัญหาบริษัทรีไซเคิลขยะพลาสติกไม่ออกไปเก็บขยะเนื่องจากได้ผลตอบเเทนต่ำในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนทำให้ภายในเขตเมืองของกรุงโซลมีขยะพลาสติกล้นเมือง
ทางการของกรุงโซลได้หันไปใช้วิธีการนำขยะไปใช้ใหม่โดยผลิตเป็นวัสดุชิ้นใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ซึ่งเรียกว่า "upcycling" เพื่อแก้ปัญหาเเละความกังวลในอนาคต
อาคาร Seoul Upcycling Plaza (SUP) เป็นตึกสูง 5 ชั้น เป็นจุดศูนย์กลางในการจัดเก็บขยะ แยกประเภทขยะและแยกชิ้นขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้เเละยังเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุใช้เเล้ว
มีบริษัทอับไซเคิล 35 แห่งที่ได้รับเลือกให้ดำเนินกิจการนี้หลังจากมีการแข่งขันกันเพื่อเริ่มต้นโครงการอับไซเคิลขยะในกรุงโซล
Yoon Dayyoung ผู้อำนวยการของ Seoul Upcycling Plaza กล่าวว่ากระบวนการอับไซคลิ่งเริ่มที่การแยกขยะเพื่อรีไซเคิล การแยกชิ้นส่วนออกจากกัน การบดวัสดุเเละการนำไปใช้ใหม่ การอับไซคลิ่งเป็นการนำวัสดุที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีคุณค่าและมีคุณสมบัติดีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์
ทางการของกรุงโซลวางแผนที่จะรีไซเคิลขยะพลาสติกมากกว่าร้อยละ 70 ของทั้งหมดให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ทางการจะเป็นผู้ซับพลายวัตถุดิบที่ถูกแยกเเล้วให้กับประชาชนเพื่อใช้ผลิตเป็นสินค้าอับไซเคิลผ่านธนาคารวัสดุ หรือ Material Bank เจ้าหน้าที่ทางการชี้ว่าประชาชนสามารถเลือกซื้อวัสดุต่างๆ ที่มีให้เลือกมากกว่า 400 ชนิดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
บริษัทส่วนใหญ่ที่เริ่มผันตัวไปทำธุรกิจอับไซคลิ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าหัตถกรรมที่ผลิตสินค้าที่มีลักษณะพิเศษที่คนนิยมสะสม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้รวมถึงชุดกระดาบพับออริกามิที่ทำจากกล่องนมหรือจานที่ทำจากกล่องกระดาษใช้เเล้ว ลูกค้าสามารถซื้อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเหล่านี้ได้หรืออาจจะใช้วัสดุดิบต่างๆ ไปผลิตเป็นงานประดิษฐ์ขึ้นเอง
ศูนย์บริการ ณ. จุดขายยังบริการซ่อมเเซมอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ที่เสีย โดยใช้ ส่วนประกอบที่แกะมาจากอุปกรณ์ชิ้นอื่นที่ไม่ใช้งานเเล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแยกขยะเเล้วยังช่วยให้ของที่เสียกลับไปใช้งานได้อีก
ผู้ที่เข้าชมงานซ่อมเเซมในจุดบริการนี้จะเห็นว่านอกจากจะมีสินค้าที่ผลิตในเกาหลีใต้เเล้ว ยังมีสินค้านำเข้าชื่อดังอีกด้วย
แม้จะมีความพยายามในการนำสินค้าไปใช้ใหม่ แนวคิดนี้ยังไม่ถึงขั้นมีความยั่งยืน บรรดาร้านผลิตสินค้าหัตถกรรมจำนวนมากเเละซับพลายเออร์ ผลิตสินค้าอับไซคลิ่งด้วยมือเเละไม่มีกำลังคนเพียงพอในการผลิตในปริมาณมากนอกเหนือจากนี้ หลายคนยังผิดหวังที่สินค้าอับไซคลิ่ง ราคาไม่ถูกอย่างที่คาดหวังเอาไว้
แต่ที่บริษัท Touch4Good ที่อับไซเคิลแผ่นป้ายและบิลบอร์ดให้กลายเป็นกระเป๋าถือและของประดับ ตกแต่งกายที่ทันสมัย Park Mi-hyeon กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการคิดถึงกระบวนการอย่างเหมาะสม เธอกล่าวว่าการอับไซเคิล คล้ายกับการสร้างสรรค์สินค้าหัตถกรรมหรือสินค้าที่ออกแบบเฉพาะตัวแก่ลูกค้า ไม่ใช่สินค้าที่ผลิตออกมาในจำนวนมากแบบในโรงงาน
Park ได้ทำโครงการอับไซคลิ่งมาหลายโครงการเเล้วตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2008 เเละดูแลสถาบันการวิจัยด้านวัสดุอับไซคลิ่งอีกด้วย เธอกล่าวว่าวัสดุอับไซเคิลส่วนมากต้องแยกด้วยมือเเละขั้นตอนในการผลิตเป็นสินค้าชิ้นใหม่ก็ต้องทำด้วยมือเช่นกัน
Park กล่าวว่าการอับไซคลิงมีศักยภาพสูงที่จะทำเงินได้ในตลาดในเกาหลีใต้เเละกล่าวว่ามีบริษัทกว่า 200 แห่งเข้าสู่ธุรกิจนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขี่ยวชาญด้านสิ่งเเวดล้อมชี้ว่ามีความสำคัญมากกว่าที่ต้องลดประมาณพลาสติกที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันลงแทนที่จะมุ่งเน้นการอับไซเคิล
ในกรุงโซล เพื่อกระตุ้นให้คนลดขยะ
บริษัทกาแฟสตาร์บัคส์จากสหรัฐฯได้เลิกใช้หลอดดูดพลาสติกเเละใช้หลอดดูดกระดาษแทนและร้านอาหารอื่นๆ ยังได้เลิกใช้หลอดพลาสติกไปเลยเเละส่งเสริมให้ลูกค้านำหลอดดูดส่วนตัวมาเองหรือใช้หลอดดูดโลหะหรือหลอดดูดที่ทำจากไม้ไผ่เเทน
และในเเง่ของการลดขยะพลาสติก บรรดาธุรกิจร้านอาหารในกรุงโซลได้เลิกใช้แก้วน้ำหรือถ้วยชาที่ใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้งเเละร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ห้ามใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)