กลุ่มสิทธิมนุษชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่งตั้งทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างมาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2017
ทั้งนี้ กฎหมายสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ ค.ศ. 2004 กำหนดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อบุคคลเพื่อรับตำแหน่งดังกล่าว และให้วุฒิสภาสหรัฐฯ รับรอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผู้รับตำแหน่งดังกล่าวแม้ ปธน. ไบเดนจะยกระดับความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลกก็ตาม
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลดความสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ นับตั้งแต่เขาพบปะกับนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์เมื่อเดอนมิถุนายน ค.ศ. 2018
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีทางอีเมลว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่ทางกระทรวงฯ ยังคงกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในฐานะศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศต่อไป
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กร Human Rights Watch ระบุว่า เนื่องจากรัฐบาล ปธน. ไบเดน อ้างว่าให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ทางสหรัฐฯ จึงควรเสนอชื่อบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือเพื่อรับตำแหน่งดังกล่าว
ทางด้านเกร็ก สการ์ลาโตว ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร Committee for Human Rights in North Korea ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันควรให้ความสำคัญต่อการแต่งตั้งทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอีกตำแหน่งที่ยังคงว่างอยู่เช่นกัน เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีใต้จะนำไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ รวมถึงสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือด้วย
ท่าทีจากสหรัฐฯ ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล รัฐบาล ปธน. ไบเดนออกมาตรการลงโทษบริษัทและบุคคลจากเกาหลีเหนือจากเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในเดือนนี้เช่นกัน ผู้นำสหรัฐฯ ได้จัดประชุมสุดยอดออนไลน์เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อส่งเสริมคุณค่าของระบบเสรีประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิมนุษยชน
ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์หลายฉบับ โดยรับปากว่าจะแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่แสดงความกังวลถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า จะมีการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนนโยบายเกาหลีเหนือของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนเมษายน แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุถึงการเสนอชื่อหรือแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทูตพิเศษนี้แต่อย่างใด
ต่อมา ในเดือนมีนาคม นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับคณะกรรมการด้านกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า เขาคิดว่าต้องมีการแต่งตั้งทูตพิเศษดังกล่าว เขายังย้ำถึงความตั้งใจแต่งตั้งนี้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน
โรเบอร์ตา โคเฮน อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ในสมัยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ระบุว่า ในที่สุดแล้ว รัฐบาล ปธน. ไบเดนจะแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่กระบวนการทั้งหมดก็เป็นไปอย่างล่าช้ามาก
โรเบิร์ต คิง อดีตทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุว่า ปัญหาอยู่ที่การตอบสนองและการรับรองผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทูตต่างๆ ที่ล่าช้าของวุฒิสภาสหรัฐฯ
ฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กร Human Rights Watch ระบุว่า แม้ขั้นตอนราชการอาจทำให้กระบวนการนี้ล่าช้า แต่ก็ทำให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญทางการเมืองต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ขณะที่เกรก สกาตาโลว์จาก Committee for Human Rights in North Korea เห็นว่า กระบวนการที่ล่าช้านี้มีเหตุผล เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังรับมือกับประเด็นสำคัญอื่นๆ อยู่เช่นกัน
การกดดันเกาหลีเหนือ
ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเห็นว่า การแต่งตั้งทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือจะเพิ่มแรงกดันไปยังเกาหลีเหนือ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีต้องการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งความพยายามดังกล่าวไม่คืบหน้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2019
บรูซ คลิงเนอร์นักวิจัยอาวุโสแห่งมูลนิธิ Heritage Foundation ระบุว่า การเสนอชื่อทูตดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงการกลับมาใช้นโยบายที่เข้มข้นต่อเกาหลีเหนืออีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวน้อยลงนับตั้งแต่การพบปะระหว่างอดีต ปธน. ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ที่สิงคโปร์
แฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการอาวุโสด้านเกาหลีศึกษา แห่งศูนย์ Center for the National Interest ระบุว่า รัฐบาล ปธน. ไบเดนตระหนักดีว่า ตำแหน่งทูตพิเศษดังกล่าวแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็อาจเป็นเหตุให้เกาหลีเหนือใช้อ้างเพื่อตีตนออกห่างได้มากกว่าเดิมเช่นกัน