Your browser doesn’t support HTML5
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินหน้าเน้นย้ำความสำคัญของกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่เพิ่งลงนามคำสั่งให้มีผลบังคับใช้ไป ด้วยการชี้ว่า งบประมาณจากกฎหมายนี้จะถูกนำไปช่วยการสร้างและการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแผนการลงทุนที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในระยะยาว พร้อมๆ กับช่วยสร้างงานที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีให้กับชาวอเมริกันด้วย
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ในวันพุธตามเวลาในสหรัฐฯ ปธน.ไบเดน เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถของบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors)ในนครดีทรอยต์ ที่รับหน้าที่ผลิตรถพลังงานไฟฟ้า และใช้โอกาสนี้ในการอธิบายถึงแผนใช้งบประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์ ภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการสร้างและการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า ที่จะผลักดันให้อเมริกา “กลับเข้ามายืนอยู่ในสนาม” ของการเป็นผู้ผลิตพลังงานสีเขียวเสียที
รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบัน ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่ระดับ 1 ใน 3 ของขนาดตลาดรถไฟฟ้าจีน
ทั้งนี้ สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน ที่ออกเสียงสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว ออกมาวิจารณ์ว่า ผู้นำสหรัฐฯ หมกมุ่นแต่เรื่องเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้า ขณะที่ ชาวอเมริกันกำลังประสบปัญหาภาวะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงอยู่
มิตช์ เเม็คคอนเเนลล ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 19 ส.ว. สังกัดพรรครีพับลิกันที่ลงคะแนนหนุนกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้ กล่าวต่อที่ประชุมสภาเมื่อวันอังคารว่า “รัฐบาลปธน.ไบเดน ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ใดๆ ที่จะสั่งการและช่วยทำให้ประเทศที่มีขนาดมหึมาอย่างเช่นสหรัฐฯ กลายมาเป็นโลกในอุดมคติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชั่วข้ามคืนเลย” และว่า “(รัฐบาล) มีแต่จะทุ่มเงินงบประมาณรัฐจำนวนมหาศาลไปใช้ในเรื่องเช่น แผงโซลาร์เซลล์ และรถพลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งความหวังว่า ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จเอง”
เจน ซากิ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวย้ำระหว่างการแถลงข่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลัง “หาทุกหนทางที่มี” ในการรับมือกับภาวะราคาน้ำมันพุ่งสูงอยู่ และยืนยันว่า ปธน.ไบเดนและทีมเศรษฐกิจนั้น “กำลังมุ่งเน้น” แก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ด้วย
ในส่วนของโรงงานของ GM ที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยี่ยมชมครั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า จะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานฉบับใหม่ แต่จะได้จากแผนงบประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสร้างเครือข่ายจุดชาร์จรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน
เดิมทีนั้น ปธน.ไบเดน ประกาศแผนใช้งบประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างจุดชาร์จรถไฟฟ้าจำนวน 500,000 จุด แต่ไม่ได้อธิบายว่า ตัวเลขจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด ภายใต้งบครึ่งหนึ่งที่ได้มา
องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ชื่อ International Council on Clean Transportation ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ นั้นต้องการจุดชาร์จรถไฟฟ้าถึง 2.4 ล้านจุดภายในปี ค.ศ. 2030 หากจำนวนรถใหม่ที่จำหน่ายในตลาดนั้นเป็นรถไฟฟ้าถึง 36%
ปัจจุบัน มีจุดชาร์จรถไฟฟ้าทั่วสหรัฐฯ อยู่ราว 45,500 จุด พร้อมปลั๊กชาร์จประมาณ 112,000 หัว
(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)