ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง จะร่วมประชุมออนไลน์ทวิภาคีในสัปดาห์นี้ ขณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ
การประชุมสุดยอดเอเปคในปีนี้จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ผ่านระบบวิดีโอออนไลน์เป็นปีที่สองติดต่อกัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางที่ยังคงมีอยู่
ผู้นำประเทศสมาชิกเอเปค 21 ประเทศจะหารือในประเด็นสำคัญเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตลอดจนหาทางเพิ่มความร่วมมือเพื่อผ่อนปรนกำแพงการค้าระหว่างกัน การแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัด การแบ่งปันและการผลิตวัคซีนโควิด-19 การยกเลิกนโยบายกีดกันทางการค้าสำหรับยาต่าง ๆ และการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ประชากรรวมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคนั้นมีสัดส่วนราว 38% ของประชากรโลก ขณะที่จีดีพีรวมของสมาชิกนั้นสูงถึงกว่า 60% ของจีดีพีโลก
ในการประชุมเอเปคตลอดสัปดาห์นี้ หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะมีความตึงเครียดในระหว่างการหารือของตัวแทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยเฉพาะกรณีที่ไต้หวัน ยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CPTPP ซึ่งรัฐบาลจีนคัดค้านอย่างเต็มที่ และกรณีที่สหรัฐฯ จะขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี ค.ศ. 2023 ซึ่งยังมีปัญหาอยู่ที่รัสเซียยังไม่ออกมาสนับสนุนประเด็นนี้อย่างเป็นทางการ
จับตาการหารือของผู้นำจีนและสหรัฐฯ
นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ได้พยายามปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จากนโยบาย "อเมริกามาก่อน" ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มามุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งในด้านการค้า และการพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับจีน ไบเดนยังคงใช้มาตรการควบคุมจำกัดทางการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อน ควบคู่ไปกับการเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียแปซิฟิก
ตัวอย่างหนึ่งคือการจัดทำสนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารกับออสเตรเลียและอังกฤษ หรือ AUKUS ซึ่งรวมถึงข้อตกลงสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียเพื่อต้านทานการเพิ่มกำลังทางทะเลของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความขัดแย้งกันของสหรัฐฯ กับจีน ยังแสดงให้เห็นในรูปแบบของการเรียกชื่อภูมิภาคนี้ เพราะในขณะที่จีนใช้คำเรียกว่า "เอเชีย-แปซิฟิก" สหรัฐฯ กลับเปลี่ยนไปเรียกว่า "อินโด-แปซิฟิก" ซึ่งหมายรวมถึงพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ คือ อินเดีย เข้าไปในภูมิภาคนี้ด้วย
นอกจากประเด็นด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลกแล้ว สิ่งที่น่าจับตาในการหารือทวิภาคีของผู้นำสหรัฐฯ กับจีนในครั้งนี้ คือความพยายามรับมือการระบาดของโควิด-19 การขยายโครงการวัคซีนในประเทศต่าง ๆ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากการะบาดใหญ่ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา