Your browser doesn’t support HTML5
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐร่างแผนที่พันธุกรรมของมะเขือเทศป่ากับข้าวสายพันธุ์อาฟริกาเพื่อหาทางปรับปรุงพันธุ์ข้าวและมะเขือเทศให้ทนทานต่อภาวะโลกร้อนและให้ผลผลิตสูงขึ้นเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ในรายงานผลการวิจัยสองชิ้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics ทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์จีโนมของพืชอาหารหลักสองชนิดได้เเก่ข้าวสายพันธุ์อาฟริกันและมะเขือเทศป่า
ข้าวสายพันธุ์เอเชียชนิดต่างๆ ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวสายพันธุ์อาฟริกาและยังง่ายต่อการแปรรูปมากกว่าด้วย ในขณะที่มะเขือเทศป่ากินไม่ได้เพราะมีพิษเเต่พืชเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ คุณ Rod Wing นักชีววิทยาพืชแห่งมหาวิทยาลัย Arizona State University เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยที่ทำการร่างจีโนมของข้าวสายพันธุ์อาฟริกัน
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ามีข้าวสายพันธุ์อาฟริกาบางสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีหากนำไปปลูกในพื้นที่ป่าชายเลน ทนทานต่อความเค็มของดินได้ดีกว่าข้าวสายพันธุ์เอเชีย
คุณ Wing ชี้ว่าข้าวสายพันธุ์อาฟริกาทนต่อดินเค็ม ดินมีสารพิษ ดินที่เเห้งเเล้งและทนต่อวัชพืชได้ดีกว่าข้าวสายพันธุ์เอเชียซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากเนื่องจากจะช่วยให้ทนต่อภาวะโลกร้อนที่ส่งกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลาอีกด้วย
เขากล่าวว่าภายใน 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นราว 2,000 ล้านถึง 2,500 ล้านคน ซึ่งจะสร้างความท้าทายแก่การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการเลี้ยงคนทั้งโลก
การถอดรหัสยีนของข้าวสายพันธุ์อาฟริกาช่วยลดความเป็นห่วงในเรื่องนี้ลง ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นสายพันธุ์ข้าวที่ดีกว่าเดิมได้รวดเร็วขึ้นด้วยการนำคุณสมบัติที่ดีของข้าวสายพันธุ์อาฟริกาไปผสมกับข้าวสายพันธุ์เอเชีย
เช่นเดียวกับข้าวสายพันธุ์อาฟริกา มะเขือเทศป่าก็มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง คุณ Bjorn Usadel ผู้เชี่ยวชาญด้าน bioinformatics แห่งมหาวิทยาลัย RWTH Aachen กล่าวถึงเรื่องนี้ว่ามะเขือเทศป่ามีสีเขียวเเละมีสารที่เป็นพิษในผลของมะเขือเทศแต่มะเขือเทศป่าก็มีคุณสมบัติที่น่าจะเป็นประโยชน์เช่นกัน อาทิ ทนทานต่อความแห้งแล้งและความเค็ม
รายงานเกี่ยวกับยีนของมะเขือเทศป่าที่คุณ Usadel และทีมงานทำการร่างแผนที่จีโนมมะเขือเทศป่าระบุว่ายีนตัวใดบ้างที่ช่วยให้มะเขือเทศป่าทนทานต่อดินเค็มและความ
เเห้งเเล้ง
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าคุณสมบัติพิเศษของมะเขือเทศป่านี้น่าจะส่งผลดีต่อมะเขือเทศที่ขายกันตามห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบันหากนำพันธุ์ไปผสมกันเป็นมะเขือเทศพันธุ์ใหม่ ทีมนักวิจัยค้นพบว่ายีนที่แตกต่างกันระหว่างมะเขือเทศป่ากับมะเขือเทศบ้านมีผลให้รสชาดและกลิ่นของมะเขือเทศทั้งสองชนิดต่างกัน
คุณ Usadel หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่าการคิดค้นมะเขือเทศพันธุ์ลูกผสมจากมะเขือเทศป่ากับมะเขือเทศบ้านน่าจะช่วยปรับปรุงให้มะเขือเทศมีรสชาดที่ดีขึ้นกว่าเดิมแต่นักวิทยาศาสตร์ต้องระมัดระวังเพื่อให้มั่นใจว่ามะเขือเทศลูกผสมพันธุ์ใหม่ไม่มีพิษเหมือนกับมะเขือเทศป่า