นายกบังกลาเทศลาออก-หนีออกนอกประเทศ เตรียมตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา (Prime Minister's office/Handout via Reuters)

นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา ลาออกในวันจันทร์และเดินทางออกนอกประเทศทันที อ้างอิงจากแหล่งข่าวหลายแห่ง ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นมาเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

พลเอกเวเกอร์-อัส-ซามาน แห่งกองทัพบกบังกลาเทศ ประกาศการลาออกของนายกรัฐมนตรีหญิงวัย 76 ปีผู้นี้ทางโทรทัศน์ และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศ

รายงานจากสื่อบังกลาเทศระบุว่า ชีค ฮาซีนา ได้โดยสารไปกับเฮลิคอปเตอร์ทหารเพื่อมุ่งหน้าไปยังรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียแล้ว ขณะที่รายงานจากสื่ออีกแห่งหนึ่งบอกว่าเธอเดินทางไปยังรัฐตริปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

รอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานดังกล่าวได้

ภาพจากโทรทัศน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายหมื่นคนเดินขบวนบนถนนในกรุงธากาพร้อมตะโกนขับไล่รัฐบาลและประกาศชัยชนะ มีผู้ประท้วงหลายพันคนบุกทำเนียบนายกรัฐมนตรีฮาซีนา หลายคนตะโกนว่า "เธอหนีออกนอกประเทศไปแล้ว"

People celebrate the resignation of Bangladeshi Prime Minister Sheikh Hasina in Dhaka, Aug. 5, 2024.

มีภาพผู้ประท้วงบุกเข้าไปในห้องต่าง ๆ ของทำเนียบ บางคนหอบหิ้วโทรทัศน์ โต๊ะและเก้าอี้ออกมาจากอาคารที่เคยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยมากที่สุดของประเทศนี้

ผู้ประท้วงในกรุงธากายังปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ของชีค มูจิเบอร์ ราห์มัน บิดาของฮาซีนาและผู้นำการประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศ แล้วพยายามทำลายรูปปั้นดังกล่าว

นักศึกษาบังกลาเทศเรียกร้องให้มีการเดินขบวนในวันจันทร์เพื่อแสดงพลังต่อต้านการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และกดดันให้ฮาซีนาลาออก หลังจากเกิดความรุนแรงทั่วบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน เพิ่มจากจำนวนราว 150 คนที่เสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้ว

ในวันจันทร์ เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจในกรุงธากา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดลีสตาร์

การประท้วงในบังกลาเทศเริ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อผู้ประท้วงต้องการให้รัฐบาลเลิกระบบโควต้าที่จัดสรรงานของรัฐสูงสุด 30% ให้กับครอบครัวของทหารผ่านศึกที่ช่วยทำให้บังกลาเทศรบกับปากีสถานในการเรียกร้องเอกราช ปี 1971

ผู้เดินขบวนกล่าวว่า ระบบนี้ปิดกั้นโอกาสของประชาชน และเอื้อประโยชน์ต่อผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีฮาซีนา เนื่องจากพรรคของเธอเป็นเกนนำในการเรียกร้องเอกราช จึงอยากให้มีระบบใหม่ที่รับข้าราชการตามความสามารถ

แต่นายกรัฐมนตรีฮาซีนากล่าวว่า ระบบโควต้าสมควรให้ความสำคัญกับทหารผ่านศึก เพื่อเเสดงความเคารพต่อคุณูปการของพวกเขาต่อประเทศ โดยไม่ได้มีเรื่องความนิยมพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ฮาซีนาเพิ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้งเนื่องจากความไม่โปร่งใส

  • ที่มา: รอยเตอร์