Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับมารดาและลูกจำนวน 116,000 คนจาก 50 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา
ทีมนักวิจัยนี้นำโดยคุณ Marc Weisskopf แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับอากาศที่มีระดับมลพิษสูงในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่สุดในการคลอดบุตรที่มีความบกพร่องแบบออติสซึ่ม โดยมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับมารดาที่อาศัยในพื้นที่ ที่มีระดับมลพิษทางอากาศต่ำกว่า
ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี้พบว่าช่วงจังหวะของการได้รับมลพิษทางอากาศมีความสำคัญต่อความบกพร่องนี้ ทีมนักวิจัยตรวจไม่พบโอกาสเสี่ยงหากผู้หญิงได้รับอากาศที่มีระดับมลพิษสูงก่อนการตั้งครรภ์และยังพบด้วยว่ามลพิษทางอากาศไม่ทำให้เด็กทารกเป็นออติสซึ่มหากได้รับมลพิษทางอากาศหลังคลอด
คุณ Marc Weisskopf หัวหน้าทีมวิจัยเป็นนักระบาดวิทยาด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีพกล่าวว่าผลการศึกษานี้น่าเชื่อถือมากแม้ว่าจะไม่ใช่หลักฐานโดยตรงที่ชี้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคออติสซึ่ม
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการค้นพบความเกี่ยวข้องระหว่างมลภาวะทางอากาศกับอายุครรภ์ช่วยจำกัดข้อต้องสงสัยอื่นๆ ลงมาให้แคบลงและช่วยให้มั่นใจมากขึ้นว่ามลภาวะทางอากาศมีความเกี่ยวข้องสูงกับโรคนี้
คุณ Weisskopf หัวหน้าการวิจัยชี้ว่ามารดาที่ตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนสุดท้ายควรหลีกเลี่ยงการสูดดมอากาศที่มีระดับมลพิษสูงหากเป็นไปได้
เขากล่าวว่าหญิงตั้งท้องอาจจะหลีกเลี่ยงไม่อาศัยในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง อาจจะเลือกการวิ่งในสวนสาธารณะแทนการวิ่งบนทางเท้า อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าโรคออติสซึ่มเป็นโรคที่มีสาเหตุหลายอย่างและมลพิษทางอากาศก็น่าจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
ออติสซึ่ม มีระดับความรุนแรงของโรคกว้างมาก เด็กอาจจะมีความบกพร่องในระดับต่ำจนถึงในระดับรุนแรงและเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกันทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางพันธุกรรม
คุณ Paul Wang หัวหน้าฝ่ายการวิจัยทางการแพทย์แห่งสำนักงาน Autism Speaks ซึ่งเรียกร้องสิทธิ์แก่เด็กที่เป็นโรคออติสซึ่มกับครอบครัว เขากล่าวว่าผลการวิจัยนี้น่าเชื่อถือมาก เขาย้ำว่าระยะการตั้งครรภ์สามเดือนสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาทางสมองอย่างรวดเร็วที่สุด
แต่เขากล่าวว่าผลการศึกษานี้ไม่มีผลต่อข้อแนะนำพื้นฐานที่สำนักงานมีแก่ครอบครัวที่เด็กเป็นโรคนี้ เขากล่าวว่าสำหรับพ่อแม่ที่ลูกเป็นออติสซึ่มควรเดินหน้าให้การบำบัดรักษาแก่บุตรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดทางพฤติกรรมและทางการศึกษาที่เหมาะแก่เด็กที่มีความบกพร่องนี้
ในขณะเดียวกัน คุณ Marc Weisskopf หัวหน้าการวิจัยนี้กล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานกำลังพยายามศึกษาต่อไปเพื่อค้นหาว่าสารพิษตัวใดในมลพิษทางอากาศที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคออติสซึ่มเช่นเดียวกับการระบุว่าผู้หญิงกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงสูงในการให้กำเนิดมีบุตรที่มีความบกพร่องนี้