ภาวะโลกร้อนทำให้ 'เต่าตนุ' เป็นเพศเมียมากกว่าเพศผู้

  • Phil Mercer
โลกที่ร้อนขึ้นทำให้ไข่เต่าเขียวทะเลในออสเตรเลียฟักตัวเป็นเพศเมียมากกว่าเพศผู้

Your browser doesn’t support HTML5

Australia Turtles

เวลานี้ เต่าตนุ(Green Turtle) เกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ที่ตอนเหนือของแนวปะการังยักษ์เกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ในออสเตรเลีย เป็นเพศเมีย

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเต่าตนุ 200,000 ตัวในบริเวณนี้พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเต่าตัวเมีย

ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เเละเกิดความกังวลว่า ความอยู่รอดของเต่าพันธุ์นี้ซึ่งจัดว่าเป็นเต่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่เเล้ว จะยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก

ส่วนทางด้านใต้ของแนวปะการังยักษ์ Barrier Reef ที่สภาพน้ำเย็นกว่า ทีมนักวิจัยพบว่าราว 2 ใน 3 ของประชากรเต่าในพื้นที่เป็นตัวเมีย

ทีมนักวิจัยบอกว่า พวกเขาหวังว่าสภาพภูมิอากาศจะไม่ร้อนจัดเกินไปในช่วงหลายปีต่อจากนี้ เพื่อช่วยให้มีเต่าตัวผู้เพิ่มขึ้น เเต่หลายคนบอกว่าอากาศน่าจะร้อนขึ้นกว่าเดิมต่อไป

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีวิธีแก้เเก่ปัญหาการมีประชากรเต่าตัวเมียมากกว่าตัวผู้ นั่นก็คือการกางเต็นท์บนหาดทรายที่มีรังไข่ของเต่าฝังอยู่ข้างใต้ เพื่อเป็นร่มกันแดดเเก่ไข่เต่า

ด็อกเตอร์ โคลิน ลิมพุส (Colin Limpus) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งควีนสเเลนด์ (Queensland) กล่าวว่า การทำฝนเทียมก็เป็นอีกทางออกหนึ่งเเก่ปัญหานี้ เพราะว่าฝนจะช่วยลดอุณหภูมิของทรายที่มีรังไข่เต่าอยู่ข้างใต้ลงได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน เเละช่วยลดความไม่สมดุลของจำนวนลูกเต่าเพศเมียลง เเละเพิ่มจำนวนลูกเต่าเพศผู้ให้มากขึ้น

เต่าตนุเป็นหนึ่งในเต่าทะเลพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เเละเป็นเต่าที่กินเฉพาะพืชเป็นอาหารเพียงสายพันธุ์เดียวในบรรดาเต่าพันธุ์ต่างๆ

เต่าตนุ หรือ เต่าเขียว ถูกตั้งชื่อตามสีของกระดูกอ่อนเเละไขมันที่ออกเป็นสีค่อนข้างเขียว ไม่ได้ตั้งชื่อตามสีของกระดอง

เต่าพันธุ์นี้จัดว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะถูกคุกคามจากการสูญเสียเเหล่งที่อยู่ การล่าเต่าเกินพอดีเพื่อเอาไข่ เเละการล่าเต่าที่โตเต็มวัย

แนวปะการังยักษ์ของออสเตรเลียมีความยาวถึง 2,300 กิโลเมตร ตลอดเเนวชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เเละเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลากหลาย รวมทั้งปลาฉลามมากกว่า 130 สายพันธุ์ หนอนทะเล 500 กว่าชนิด เเละปลาอีก1,600 ชนิด

เเนวปะการังยักษ์เกรทแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลียกำลังเจอกับการคุกคามหลายด้านจากมลพิษจากยาฆ่าเเมลง เเละดินจากพื้นที่การเกษตรที่ไหลลงไปในทะเล เเละอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นก็ทำให้เกิดภาวะปะการังกัดขาวในช่วงสองปีที่ผ่านมา

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)