Your browser doesn’t support HTML5
ออสเตรเลียเสนอที่จะจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวให้กับยุโรป หากรัสเซียตัดสินใจยุติการจ่ายพลังงานให้กับยุโรป ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน
ระหว่างที่ทั่วโลกจับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในตอนนี้ หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่ารัฐบาลกรุงมอสโก อาจลดปริมาณหรือสั่งตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้กับหลายประเทศในยุโรป ในช่วงที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงานหลังจากผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ผลักดันความต้องการพลังงานให้เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค และที่ผ่านมาสหภาพยุโรปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราว 1 ใน 3 และจำเป็นต้องมองหาแหล่งพลังงานจากประเทศอื่นหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยกระดับขึ้น
ออสเตรเลีย ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ของโลก พร้อมที่จะเพิ่มการส่งออกเชื้อเพลิงชนิดนี้ให้กับกลุ่มประเทศในยุโรป โดยรัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย แดน เทฮัน ได้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ออสเตรเลียพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อนและพันธมิตร ในสถานการณ์ภูมิยุทธศาสตร์ที่ท้าทายและซับซ้อนในปัจจุบัน
ด้านโทนี วู้ด ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานจากสถาบัน Grattan Institute องค์กรวิจัยของออสเตรเลีย ให้ทัศนะกับสื่อ Australian Broadcasting Corp. ของออสเตรเลียว่า ออสเตรเลียอยู่ในฐานะที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้
ปัจจุบัน ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และกาตาร์ มีปริมาณการผลิตก๊าซ LNG ราว 50% ของปริมาณก๊าซ LNG ที่ส่งไปทั่วโลก ขณะที่รัสเซียจัดส่งก๊าซดังกล่าวไปยังยุโรปผ่านท่อลำเลียงในยูเครนและประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก
โดยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการที่ยุโรปมองหาแหล่งพลังงานนี้จากพื้นที่อื่นๆ ในโลก ซึ่งสหรัฐฯ กำลังประสานความร่วมมืออยู่ และออสเตรเลียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเพื่อชดเชยปัญหาขาดแคลนพลังงานของยุโรปในตอนนี้บ้าง แต่เชื่อว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีกหากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยุโรปย่ำแย่ลง
ปัจจุบัน เส้นทางส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัสเซียไปยังยุโรปส่วนใหญ่ จะส่งผ่านท่อลำเลียงในยูเครนและประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก ซึ่งรัฐบาลรัสเซียอ้างว่า ระบบขนส่งก๊าซในยูเครนทรุดโทรมมากแล้วและกล่าวหายูเครนว่าขโมยก๊าซ LNG
ด้านนักวิเคราะห์ต่างเห็นว่า รัสเซียอาจใช้ความตึงเครียดระหว่างยูเครนเพื่อผลักดันโครงการท่อส่งก๊าซใหม่กับเยอรมนี เพื่อตัดเส้นทางขนส่งก๊าซผ่านโปแลนด์และยูเครนที่มีอยู่เดิม
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ขอให้พลเมืองออสเตรเลียราว 1,400 คนออกจากยูเครนโดยทันที จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนบริเวณพรมแดนยูเครนและรัสเซีย