รัฐบาลท้องถิ่นรัฐควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย เริ่มอนุญาตให้นักล่าจระเข้สามารถเก็บไข่จระเข้ไปขายให้กับฟาร์มจระเข้ต่างๆ ได้แล้ว เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งชนพื้นเมืองเผ่าอะบอริจิน
จระเข้น้ำเค็มในรัฐควีนส์แลนด์นั้นถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีความยาวราว 5 เมตร และน้ำหนักราว 450 กก.
รัฐควีนส์แลนด์กำหนดให้จระเข้เป็นสัตว์ที่ได้รับการปกป้องตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ปัจจุบัน คาดว่ามีจระเข้น้ำเค็มในรัฐนี้ราว 100,000 – 200,000 ตัว
โดยการปรับแก้กฎหมายครั้งล่าสุดนี้ จะอนุญาตให้นักล่าสามารถเก็บไข่จระเข้ตามแหล่งที่อยู่ของมันได้ไม่เกิน 5,000 ใบต่อปี ซึ่งบรรดานักอนุรักษ์เชื่อว่า วิธีนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยรักษาจำนวนจระเข้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย
สำหรับไข่จระเข้ที่ถูกนำไปขายที่ฟาร์มต่างๆ นั้น จะถูกนำไปฟักและเลี้ยงจนโตเต็มวัย ก่อนที่จะถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อไปเป็นอาหาร และนำหนังไปผลิตเครื่องนุ่งห่มราคาแพงต่างๆ โดยหนังจระเข้หนึ่งตัวนั้นอาจทำเงินได้ราว 700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 22,000 บาท