นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ประกาศในวันส่งท้ายปีเก่าว่า เพลงชาติออสเตรเลียที่ชื่อ “Advance Australia Fair” ถูกปรับเนื้อเพลงต้อนรับวันปีใหม่เพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์และชุมชนชาวพื้นเมืองของประเทศ ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
เนื้อเพลงท่อนแรกของเพลงชาติฉบับเดิม ที่ระบุว่า “Australians all let us rejoice, for we are young and free” หรือ “ชาวออสเตรเลียทุกคนจงยินดีที่เราเป็นประเทศใหม่และมีอิสระเสรี” ถูกเปลี่ยนตอนท้ายจาก “young and free” เป็น “one and free” หรือ “เป็นหนึ่งและมีอิสระเสรี”
ผู้นำออสเตรเลียระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald ว่า แม้ออสเตรเลียอาจเป็นประเทศที่ค่อนข้างใหม่ แต่เรื่องราวของประเทศนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เริ่มแรก ที่ออสเตรเลียจดจำและเคารพ
นายกฯ มอร์ริสันยังระบุด้วยว่า ออสเตรเลียจะแสดงเจตนารมณ์ความเป็นเอกภาพของประเทศ ด้วยการให้เนื้อเพลงชาติสะท้อนถึงการเคารพยอมรับชนพื้นเมือง การเปลี่ยนเนื้อเพลงครั้งนี้ไม่ได้ทำให้อะไรหายไป ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้เนื้อเพลงอย่างมาก
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื้อเพลงชาติออสเตรเลียเป็นที่ถกเถียงถึงประเด็นการนำเสนอชนพื้นเมือง ความไม่เท่าเทียมอย่างเป็นระบบ และความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ และมีผู้ไม่เห็นด้วยกับท่อน “for we are young and free” เป็นจำนวนมาก โดยเนื้อเพลงท่อนนี้เป็นการสื่อถึงกองเรืออังกฤษกองแรกที่มาถึงอออสเตรเลียเมื่อปีค.ศ. 1788 แม้แท้จริงแล้ว ออสเตรเลียจะเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ตาม
เมื่อปีค.ศ. 2018 นักการเมืองหลายคนเรียกร้องให้โรงเรียนไล่เด็กหญิงวัยเก้าปีคนหนึ่งออก เนื่องจากเธอไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติ ที่เธอเห็นว่าไม่เคารพชนพื้นเมือง ต่อมาในปีค.ศ. 2019 นักกีฬาหลายคนก็ไม่ยอมร้องเพลงชาติในการแข่งขันฟุตบอล และในปีค.ศ. 2020 นักกีฬารักบี้ยูเนียนทีมชาติออสเตรเลียก็ร้องเพลงชาติเป็นภาษาของชาวอะบอริจิน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการร้องเพลงชาติเป็นภาษาพื้นเมืองในการแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่
ปีเตอร์ วิคเกอรี่ ผู้ก่อตั้งและประธานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Representation for Anthem ได้รณรงค์เรียกร้องให้มีการปรับเนื้อเพลงที่ระลึกถึงชนพื้นเมืองด้วยมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 โดยเขาได้ร่วมแต่งเนื้อเพลงอีกฉบับกับผู้นำชนพื้นเมืองและนักร้อง ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงฉบับของวิคเกอรี่ มีการใช้วลี “one and free” ที่ถูกนำไปปรับในเนื้อเพลงชาติฉบับทางการด้วย
วิคเกอรี่กล่าวว่าเขารู้สึกยินดีอย่างมากที่ทางการนำเนื้อเพลงที่ปรับไปใช้จริง โดยเมื่อปีที่แล้ว แกลดิส เบเรจิคเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ก็สนับสนุนเนื้อเพลงฉบับของวิคเกอรี่ด้วยเช่นกัน ทำให้การรณรงค์ของเขาเป็นที่สนใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ยินดีกับการเปลี่ยนเนื้อเพลงดังกล่าว แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าการปรับเนื้อเพลงเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยและเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะทำใหเกิดการเปลี่ยนแปลงใดจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น แอนโธนี่ มุนไดน์ อดีตแชมป์มวยโลกชาวพื้นเมือง ที่ทวีตข้อความเมื่อวันศุกร์ว่า การเปลี่ยนคำเพียงคำเดียวในเพลงชาตินั้นไม่พอ แต่ควรต้องเปลี่ยนทั้งเพลงใหม่ และใส่เนื้อหาประวัติศาสตร์จากทั้งฝั่งคนผิวขาวและผิวดำ
วิคเกอรี่ยอมรับข้อวิจารณ์ดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า การรณรงค์เปลี่ยนเพลงชาติเป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์เป็นหลักอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนเนื้อเพลงก็ยังถือว่าเป็น “ก้าวแรกที่สำคัญมาก”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นโต้เถียงถึงความหมายของคำว่า “เอกภาพ” และ “อิสระเสรี” ในเพลง โดยมีผู้วิจารณ์ว่า การใช้คำดังกล่าวขัดกับนโยบายที่ออสเตรเลียปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย โดยกักตัวพวกเขาที่ศูนย์ผู้อพยพที่อยู่ไกลฝั่ง เช่นเดียวกับการกีดกันอย่างเป็นระบบที่ชนพื้นเมืองเผชิญ
ทั้งนี้ มีชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย 3.3 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กลับมีนักโทษที่เป็นชนพื้นเมืองมากกว่าหนึ่งในสี่ของนักโทษทั้งหมด 41,000 คน ชนพื้นเมืองออสเตรเลียยังมีโอกาสเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าเกือบสองเท่า มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าโดยทั่วไปเกือบเก้าปี และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูงกว่าชาวออสเตรเลียที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง
นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของชนพื้นเมืองยังสูงกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งประเทศถึงกว่าสี่เท่าด้วย
เอียน แฮมม์ ประธานขององค์กรชนพื้นเมือง First Nations Foundation ยินดีกับการปรับเนื้องเพลงชาติ อย่างไรก็ตาม เขาก็เห็นว่าต้องมีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเพื่อความเท่าเทียมทางโอกาสและการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง เช่น ออสเตรเลียยังไม่มีสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลกับชนพื้นเมือง ซึ่งต่างจากประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ เช่น นิวซีแลนด์และแคนาดา ที่มีสนธิสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญออสเตรเลียยังไม่ได้ระบุถึงชนพื้นเมืองอย่างชัดเจนด้วย
ทางพรรคการเมืองออสเตรเลียก็เรียกร้องให้มีการปฏิบัติการเพื่อชนพื้นเมืองเช่นกัน โดยสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า พรรคแรงงานเรียกร้องให้ผู้นำออสเตรเลียผลักดันให้สภาพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อชนพื้นเมือง ในขณะที่พรรคกรีนก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าเรียกร้องสนธิสัญญาระหว่างชาวออสเตรเลียที่เป็นชนพื้นเมืองและที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองต่อไป