Your browser doesn’t support HTML5
รายงานการวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวเอเชียในช่วง 30 ปีข้างหน้า อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก และการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารมากขึ้น
รายงานของ Asia Research and Engagement Pte Ltd. ในสิงคโปร์ ระบุว่า ประชากรที่เพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเขตเมือง จะทำให้ปริมาณการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในประเทศแถบเอเชีย เพิ่มขึ้น 78% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 - 2050
คุณเซเรน่า แทน ผู้ร่วมจัดทำรายงาน กล่าวกับมูลนิธิ Thomson Reuters ว่า "สิ่งที่ต้องการจะเน้นย้ำคือ ประชากรในเอเชียกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม" และว่า "การทราบถึงที่มาของปัญหา จะช่วยให้เราสามารถหาแนวทางรับมือได้ดียิ่งขึ้น"
นักวิจัยเชื่อว่า ปริมาณก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นจากระดับเกือบ 3,000 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน เป็น 5,400 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งพอๆ กับมลพิษที่ปล่อยจากรถยนต์ 95 ล้านคันตลอดอายุการใช้งานของมัน
รายงานยังบอกด้วยว่า จำเป็นต้องมีที่ดินทางการเกษตรเพิ่มขนาดพอๆ กับประเทศอินเดียทั้งประเทศ เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำจะเพิ่มจากระดับ 577,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปัจจุบัน เป็น 1,054,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษนี้
สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น รายงานของมูลนิธิ ADM Capital ในฮ่องกง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 44% เป็น 39,000 ตันต่อปี ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารอย่างเกินขอบเขตจะเกิดขึ้นมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจส่งผลให้มนุษย์และสัตว์เกิดความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคจะสามารถต้านทานต่อยารักษาโรคต่างๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกัน คุณเดวิด ดาวี นักเศรษฐศาสตร์แห่งองค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ ที่กรุงเทพฯ ระบุว่า การขยายตัวของเขตเมืองใหญ่และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณความต้องการอาหารประเภทเนื้อสัตว์และอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากครัวเรือนต่างๆ มีตู้เย็นที่สามารถกักเก็บอาหารเหล่านั้นมากขึ้น
รายงานเชื่อว่า อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา และปากีสถาน จะเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารทะเลเพิ่มขึ้นมากที่สุด
รายงานของ Asia Research and Engagement ยังได้แนะนำแนวทางรับมือปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต คือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร การปรับแนวทางการปลูกพืชที่เป็นอาหาร ตลอดจนลดการใช้ยาปฏิชีวะสำหรับปศุสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอาหารของมนุษย์
นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจและผู้กำหนดนโยบายก็ควรกดดันให้เครือข่ายร้านอาหารต่างๆ จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารด้วย หรือการรณรงค์ให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ผลิตจากพืชแทนเนื้อสัตว์ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเลี้ยงปศุสัตว์จำนวนมาก