Your browser doesn’t support HTML5
อเมริกาเป็นประเทศแห่งโอกาสของผู้ที่ต้องการสร้างชีวิตใหม่ ความจริงข้อนี้ดึงดูดคนจากทั่วโลกมาตั้งหลักแหล่งที่นี่ และคลื่นการอพยพของผู้คนต่างถิ่นมาพร้อมกับวัฒนธรรมการรับประทานที่ติดตัวพวกเขามา
ผลก็คืออาหารอเมริกันเปลี่ยนรูปโฉมรสชาติตามกาลเวลา และเป็นสิ่งสะท้อนความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ในอเมริกาได้อย่างดี
อาจารย์ Krishnendu Ray จาก New York University ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารกล่าวว่าทุกๆ 40 ปี การหลั่งไหลของผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ จะทำให้ตำรับอาหารอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
เขากล่าวว่า ขณะนี้อเมริกากำลังอยู่ในช่วงกลางของ "คลื่นลูกที่สาม" ในวิวัฒนาการของอาหาร ที่ได้ลักษณะเด่นของอาหารเอเชียเข้ามาช่วยกำหนดรูปลักษณ์และรสชาติ
"คลื่นลูกแรก" อาจารย์ Ray กล่าวว่า เกิดขึ้นเมื่อราวสองร้อยปีก่อน ที่มีชาวยุโรปเหนือจำนวน 20 ล้านคน โดยเฉพาะจากเยอรมนี อังกฤษ ไอร์แลนด์ และสก็อตแลนด์ ย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ
กลุ่มคนเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนโฉมอาหารบนโต๊ะทานข้าวของคนอเมริกัน ด้วยการเพิ่มนม เนย ชีส เบียร์ ขนมปังรวมทั้งหมูและเนื้อเข้ามา จนเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มอาหารนี้ถูกมองว่าเป็นแบบฉบับดั้งเดิมของชาวอเมริกัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปสู่ยุคที่คนอิตาเลียน กรีกและชาวยิว ซึ่งอพยพมาอยู่อเมริกาช่วง ค.ศ. 1880 ถึง 1920 อาหารอเมริกันเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใน "คลื่นลูกที่สอง"
วิวัฒนาการบนโต๊ะอาหารระลอกนี้ ทำให้คนอเมริกันรู้จักใช้น้ำมันมะกอกมาปรุงอาหารมากขึ้น นอกจากนั้นสวนครัวอเมริกันเพิ่มสมุนไพรอย่างมินท์และโรสแมรี่ให้ได้เห็น ซึ่งพืชเหล่านี้ถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารหลายอย่าง เช่น ไก่อบ สลัด และขนมต่างๆ
ยุคดังกล่าวยังเป็นช่วงความตื่นตัวของการดื่มไวน์และการรับประทานปลาด้วย
และเมื่อคนเอเชียและลาตินอเมริกาเข้ามาในสหรัฐฯเมื่อราว 50 ปีก่อน "คลื่นลูกที่สาม" แห่งการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น นั่นก็คือการบุกครัวอเมริกันของ อาโวคาโด ซีอิ้วขาว ผักชี มะม่วง พร้อมด้วยผงกระหรี่
หนึ่งในสัญลักษณ์ของคลื่นลูกที่สามนี้คือ "ซ้อสศรีราชา" เช็ฟคนดังของสหรัฐฯ บางคนชอบใช้ซอสนี้ตามรายการต่างๆ และบริษัทซอสมะเขือเทศ Heinz ตัดสินใจเพิ่มรสซ้อสศรีราชาในผลิตภัณฑ์ของตนด้วย
อาจารย์ Ray จากมหาวิทยาลัย New York กล่าวว่า อิทธิพลของผู้อพยพมีมากในวิวัฒนาการด้านอาหารอเมริกัน เพราะผู้ที่เข้ามาสหรัฐฯ มีทักษะด้านนี้ และเริ่มชีวิตใหม่ที่นี่ด้วยการทำสิ่งที่ตนถนัด
เขากล่าวว่าตามเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ค ร้อยละ 70 ถึง 90 ของร้านอาหารและกิจการด้านนี้ มีคนที่เกิดในต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป คนบางกลุ่มเช่นชาวยิว ซึ่งเดิมทีมักเปิดร้านแซนด์วิชหรืออบขนมเบเกิ้ล เปลี่ยนจากคนทำอาหารเป็นนักวิจารณ์อาหาร เพราะปรับตัวด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างดีในสหรัฐฯ
อาจารย์ Ray กล่าวว่ารูปแบบการปรับบทบาทเช่นเดียวกับชาวยิว อาจเกิดขึ้นกับคนอินเดียที่สหรัฐฯ ในอนาคตได้เช่นกัน
(รายงานโดย Dora Mekouar / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)