โลกเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยน! รายงานชี้คนชั้นกลางในเอเชียนิยมทานขนมปังมากกว่าข้าว

Loaves of sourdough bread are for sale are on display at Boudin at the Wharf at Fisherman's Wharf in San Francisco. (AP Photo/Eric Risberg)

คนชั้นกลางในเอเชียหันมานิยมอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ทำให้อุปสงค์สำหรับอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผลิตจากข้าวสาลี เนื้อ และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

Your browser doesn’t support HTML5

Asia Food Grains

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า ภายในเวลา 15 ปีข้างหน้า สองในสามของคนชั้นกลางในโลกซึ่งเท่ากับ 3.3 พันล้านคน จะอยู่ในทวีปเอเชีย ในจำนวนนี้จะเป็นชาวจีน 1.8 พันล้านคน

ขณะเดียวกัน ระดับรายได้ของคนชั้นกลางกำลังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อรสนิยมความต้องการอาหารอย่างเห็นชัด เพราะเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเลือกอาหารรับประทานก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

Greg Harvey กรรมการผู้จัดการโรงโม่แป้งธัญพืช Interflour Group ในออสเตรเลีย บอกว่าอนาคตดูสดใสมากทีเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ข้าวสาลีและธัญพืชเป็นหลัก

นักธุรกิจชาวออสเตรเลียผู้นี้บอกว่า เมื่อมีคนชั้นกลางที่มีรายได้สูงพอที่จะเรียกร้องผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากธัญพืช โปรทีนจากเนื้อ และผลิตภัณฑ์นม การผลิตอาหารประเภทนี้ก็จะเจริญเติบโตอย่างแน่นอน และเป็นที่คาดกันด้วยว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า จำนวนคนชั้นกลางในเอเชียยังจะเพิ่มขึ้นอีกหกเท่าตัว ในแอฟริกาอีกหนึ่งเท่าตัวครึ่ง และในตะวันออกกลางสองเท่าตัว

ขณะเดียวกัน มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า ความต้องการข้าวต่อรายหัวประชากรโลกไม่เพิ่มขึ้น

Nick Reitmeier รองผู้จัดการใหญ่ของ Central Food Retail ในประเทศไทย ยืนยันการเปลี่ยนรสนิยมในอาหาร และบอกว่าเห็นได้ชัดตามศูนย์การค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตว่ามีความต้องการอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น

รองผู้จัดการใหญ่ของ Central Food Retail บอกว่าขนมปังเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะขนมปัง sour dough ที่ดูผู้คนจะชอบรสชาดกันมาก และพิถีพิถันช่างเลือกไปจนถึงแป้งที่ใช้ทำ ว่าต้องเป็นแป้งจากออสเตรียและญี่ปุ่น

ออสเตรเลียเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวสาลีสู่เอเชีย คู่แข่งคือ สหรัฐ แคนาดา และประเทศต่างๆในบริเวณทะเลดำ รวมทั้งตุรกีและยูเครน International Grains Council ประมาณว่าผลผลิตข้าวสาลีโลกในปีใหม่นี้ จะเพิ่มขึ้นจากปริมาณของปีที่แล้วเป็น 719 ล้านตัน

ส่วนปริมาณการผลิตข้าวสาลีของออสเตรเลียที่เพิ่งเผยแพร่ตัวเลขออกมาสำหรับปีปัจจุบัน คาดว่าจะได้ข้าวสาลีมากกว่า 24 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะส่งออกราวๆ 18 ล้านตัน

Ron Storey ที่ปรึกษาของ Australian Crop Forecasters เห็นด้วยว่า รสนิยมในอาหารที่เปลี่ยนจากข้าวไปเป็นไก่และหมู และผลิตภัณฑ์นมดูจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุปสงค์สำหรับข้าวสาลี เขาให้ความเห็นว่า คำถามสำหรับทางด้านอุปทานก็คือ จะผลิตได้พอกับความต้องการในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าหรือไม่

พ่อค้าข้าวสาลีไม่คิดว่าลำพังแต่ออสเตรเลียประเทศเดียว จะผลิตข้าวสาลีสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ เป็นการเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบทะเลดำที่จะเข้าตลาดเอเชียได้ด้วย

ในเอเชียขณะนี้ รายงานระบุว่า ตลาดแป้งทำอาหารที่กำลังโตเร็ว คืออินโดนีเซีย ซึ่งนิยม pasta และขนมปัง ส่วนจีนต้องการข้าวมอลต์ไปผลิตเบียร์ และเมล็ดธัญพืชสำหรับอาหารสัตว์