Your browser doesn’t support HTML5
ปัจจุบันประชากรไทยกว่า 10% เป็นประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี และธนาคารโลกประเมินว่าภายในปี ค.ศ 2040 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคนหรือ 25% ของประชากร 67 ล้านคนของไทย
ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ขณะที่คนญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยสูงกว่านั้น คือประชากรราว 30% มีอายุมากกว่า 60 ปี
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่าประชากรที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นในไทย ถือเป็นความท้าทายด้านนโยบายของรัฐบาลไทย
และแม้จะมีความคล้ายคลึงกันในหมู่ประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ดังกล่าว แต่ของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูง ดังนั้นเรื่องนี้จึงถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย
ดร. กิริฏา เภาพิจิตร อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายวิจัยของ TDRI กล่าวว่าผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดจากอายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น คือการลดลงอย่างรวดเร็วของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเห็นได้ชัดในประเทศแถบเอเชียตะวันออก
ในกรณีของไทย คาดว่าประชากรวัยแรงงานอายุ 15-64 ปี จะมีสัดส่วนลดลง 10% ระหว่างปี 2010 - 2040
ดร.กิริฏาชี้ว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายควรทำอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ รวมถึงการเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กทารก การสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น การเพิ่มระดับอายุของผู้เกษียณการทำงาน และการปฏิรูปนโยบายเพื่อให้สามารถรับแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้น
ด้านคุณ Eduardo Kline ผอ.ของ East Asia and Pacific for HelpAge International ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเอเชีย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติครั้งหนึ่ง และเป็นความท้าทายสำคัญของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ชี้ว่าประเทศในเอเชียที่รายได้ต่ำกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย กัมพูชา และลาว ยังคงมีอายุเฉลี่ยของประชากรในระดับไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับไทยและประเทศในเอเชียตะวันออก โดยประเทศเหล่านั้นเพิ่มก้าวเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์เท่านั้น
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)