Your browser doesn’t support HTML5
ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างรัฐบาลกรุงปักกิ่งและนานาประเทศที่เกี่ยวข้องเป็นประเด็นที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติได้ และหลายฝ่ายเลี่ยงที่จะนำขึ้นมาถกในเวทีการประชุมนานาชาติตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้นำฟิลิปปินส์มีแผนที่จะยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาถกในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังดำเนินอยู่ในสัปดาห์นี้แล้ว
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 37 และการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีไปจนถึงวันเสาร์นี้ โดยมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ในฐานะประธานหมุนเวียน โดยในปีนี้จะเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19
และในบรรดาหัวข้อการประชุมมากมายหลายระดับในปีนี้ เรื่องที่ทำให้หลายคนสนใจและรอจับตาดูคือ การที่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ ของฟิลิปปินส์ มีแผนจะยกเรื่องผลประโยชน์ของประเทศในพื้นที่ทะเลจีนใต้ และข้อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินการต่างๆ ที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทนี้ ขึ้นมาพูดคุย
ทำเนียบมาลากันยังของฟิลิปปินส์ ระบุในแถลงการณ์ว่า ปธน.ดูเตรเต้ ตั้งใจจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับการรับมือการระบาดของโควิด-19 และแผนการฟื้นฟูต่างๆ รวมทั้งทิศทางในอนาคตของการสร้างชุมชนอาเซียน และโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยจะเน้นย้ำการผลักดันบทบาทของฟิลิปปินส์ในเรื่องความร่วมมือด้านภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข การบูรณาการเศรษฐกิจของภูมิภาค สิทธิของคนงานต่างด้าว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แผนการลดความเสี่ยงของเหตุภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย และประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้
ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ กล่าวหาว่า จีน กำลังพยายามทำการ “กรรโชกขู่เข็ญ” ในพื้นที่ที่มีข้อพิพาททางทะเล เพื่อกำจัดการแข่งขันการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งทำให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดกับทะเลจีนใต้ยอมรับสิ่งที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งเรียกว่า ข้อตกลง “ความร่วมมือร่วมกัน” ที่เฉพาะบริษัทที่ตนเป็นเจ้าของเท่านั้นมีสิทธิ์ดำเนินการต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit Foreign Ministers’ Meeting ที่มีตัวแทนจากสมาชิก 18 ประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน เข้าร่วมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ริเริ่มพูดคุยประเด็นที่สหรัฐฯ เห็นว่าเกี่ยวข้องและให้ความสำคัญไปแล้ว และในการประชุมเสมือนจริงในสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ พร้อมจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยในลักษณะ “ตรงไปตรงมา” ระหว่างการถกหัวข้อต่างๆ อาทิ วิสัยทัศน์สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความมั่นคงและสันติภาพ ความโปร่งใส การค้าที่ยุติธรรมและต่างตอบแทน การยึดมั่นตามกฎหมายสากล ความมั่นคงทางพลังงาน และการยึดมั่นต่อความเป็นกลางในอาเซียน
เอกอัครราชทูต อาทุล คีชัป จากสำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า จีนนั้นเลือกที่จะดำเนินการไปในทิศทางที่แตกต่างจากแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่มีเสรีและเปิดกว้าง ทั้งยังใช้วิกฤตโควิด-19 ในการสร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ด้วย
และในการประชุมสัปดาห์นี้ เอกอัครราชทูต คีชัป เชื่อว่า สมาชิกทั้งหลายจะร่วมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งพุ่งเป้าโจมตีเอกราชของประเทศเพื่อนบ้านและระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกื้อหนุนความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพโลกมานานนับทศวรรษ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียตะวันออกเมื่อครั้งก่อนได้พูดถึงกันบ้างแล้ว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาพรวมการประชุม ASEAN Summit ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้ คาดกันว่า จะมีการออกเอกสารรับรองผลการประชุมกว่า 10 ฉบับ ซึ่งจะรวมถึง ความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 การยกระดับการเตรียมพร้อมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และความคืบหน้าแผนการผลักดันชุมชนอาเซียน เป็นต้น