ผู้แทนของจีนพยายามล็อบบี้ให้สมาคมอาเซียนยอมรับผู้นำทหารเมียนมากลับเข้าร่วมประชุมสุดยอดอีกครั้ง แต่กลับเผชิญแรงต้านอย่างแข็งขัน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวทางการทูตในวันพฤหัสบดี
พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เมื่อเดือนที่แล้ว ภายใต้เหตุผลว่ารัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตาม "ฉันทามติ 5 ข้อ" ที่ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ผู้แทนของอาเซียนเดินทางเข้าไปพบกับอดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมา
แหล่งข่าวทางการทูตในอาเซียนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เปิดเผยว่า 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ ไม่ต้องการให้พลเอกมิน อ่อง หล่าย กลับเข้าร่วมการประชุมสุดยอด จีน-อาเซียน ซึ่งมีประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ยืนยันจุดยืนเดิมของอินโดนีเซีย คือการยินยอมให้ผู้แทนเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ที่ผ่านมา อินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รับบาลทหารเมียนมามากที่สุด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี กล่าวว่า เมียนมาไม่ควรมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศจนกว่าจะมีการนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวทางการทูตในอาเซียนระบุว่า ผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการอาเซียน ซุน เกาเสียง ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์และบรูไนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อล็อบบี้ให้เมียนมาได้กลับเข้าร่วมในการประชุม แต่ทั้งสองประเทศยืนยันจุดยืนเดิมเช่นกัน และนายซุนได้กล่าวกับผู้นำทหารเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์ในช่วงสุดสัปดาห์ว่า จีนจำเป็นต้องยอมรับจุดยืนดังกล่าวของอาเซียน
ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว หลี่เจียน กล่าวเมื่อวันอังคารว่า จีนสนับสนุนให้ทุกกลุ่มในเมียนมาหาทางออกผ่านการเจรจา และทำงานร่วมกับประชาคมนานาชาติในการฟื้นฟูความมั่นคงและนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่เมียนมา
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ในฐานะที่เมียนมาเป็นประเทศผู้ประสานงานสำหรับการประชุมสุดยอด จีน-อาเซียน ในปีนี้ นั่นหมายความว่า เมียนมาอาจใช้โอกาสนี้ในการแทรกผู้นำรัฐบาลทหารของตนให้ปรากฎตัวผ่านการประชุมออนไลน์ในวันที่ 22 พ.ย. นี้ได้เช่นกัน แม้ว่าจะถูกต่อต้านแลัคัดค้านจากสมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนก็ตาม