ผู้นำอาเซียนเรียกร้องเมียนมาเดินหน้าแผนสันติภาพ

Cambodia ASEAN

ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ออก “คำเตือน” ให้เมียนมาเดินหน้าตามแผนสันติภาพ ไม่เช่นนั้นอาเซียนอาจไม่อนุญาตให้เมียนมาเข้าร่วมประชุม ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น ตามรายงานของรอยเตอร์

อาเซียนระบุว่า ชาติสมาชิกสรุปว่าจะต้องมี “ตัวชี้วัดที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง โดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน” หลังฉันทามติห้าข้อเพื่อสันติภาพของเมียนมา ที่สรุปได้เมื่อปีที่แล้ว มี “ความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย”

อาเซียนยังระบุด้วยว่า จะทบทวนตัวแทนของเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมในทุกระดับของอาเซียน หลังจากห้ามผู้นำทหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเมื่อวันศุกร์ ที่นั่งของเมียนมาถูกเว้นว่างระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ระบุว่า แถลงการณ์ของอาเซียนในครั้งนี้ส่ง “ข้อความที่ชัดเจนหรืออาจเป็นถึงคำเตือนถึงรัฐบาลทหาร” ของเมียนมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์ซูดีระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวต่อความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกระบวนการสันติภาพ

An empty chair for Myanmar delegation is pictured during the ASEAN Summit in Phnom Penh, Cambodia November 10, 2022.

กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา แสดงท่าทีต่อต้านแถลงการณ์ของอาเซียนในวันศุกร์เช่นกัน โดยระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า การระบาดของโควิด-19 และการรับมือกับกองกำลังติดอาวุธ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความคืบหน้าตามแผนดังกล่าว

ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญความโกลาหลทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นับตั้งแต่กองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อปีที่แล้ว และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง

อาเซียน ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ไม่ออกมาตรการลงโทษเมียนมาเหมือนชาติตะวันตก และไม่ขับไล่เมียนมาออกจากอาเซียน แม้ว่าอาเซียนจะประณามการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 50 คน

แพทริค พงษ์สาธร จากองค์กร Fortify Rights ระบุว่า การที่อาเซียนยังคงไม่ระงับการเข้าร่วมของรัฐบาลทหารเมียนมาในกิจกรรมของอาเซียน แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีชาติอาเซียนใดลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในประเด็นดังกล่าว และยังเป็นการอนุญาตโดยนัยให้รัฐบาลทหารเมียนมา “ก่ออาชญากรรมต่อไปได้”

ความตึงเครียดระดับโลก

หลังชาติอาเซียนประชุมแบบปิดไปแล้ว ผู้นำชาติอาเซียนยังหารือถึงความตึงเครียดอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเด็นคาบสมุทรเกาหลีและไต้หวัน กับผู้นำชาติต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน และประธานาธิบดียูน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้

ปธน. โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น มีกำหนดหารือกับอาเซียนในวันเสาร์ ขณะที่เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมบางส่วนด้วยเช่นกัน

นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน กล่าวระหว่างเปิดการประชุมอาเซียน โดยเรียกร้องให้มีการใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบ ในช่วงที่มีความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค

นอกจากนี้ อาเซียนยังตกลงในหลักการเพื่อยอมรับติมอร์ตะวันออกเป็นชาติสมาชิกประเทศที่ 11 ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีอายุน้อยที่สุดในเอเชีย เริ่มเข้ามีส่วนร่วมกับอาเซียนเมื่อปี 2002 แต่สมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011

  • ที่มา: รอยเตอร์