Your browser doesn’t support HTML5
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังใช้แนวทางทางการทูตในแถบอเมริกาใต้ เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีเวเนซูเอลา นิโคลาส์ มาดูโร สละตำแหน่ง ในอีกด้านหนึ่ง กองทัพอเมริกันก็กำลังมุ่งเป้าไปยังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในโคลัมเบีย ซึ่งเชื่อว่าเป็น "กันชน" ให้กับเวเนซูเอลาด้วย
พลเรือเอก เคร็ก ฟอลเลอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคทางใต้ (US Southern Command) ซึ่งดูแลกองกำลังของสหรัฐฯ ในอเมริกาใต้ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เวลานี้กองทัพสหรัฐฯ กำลังมุ่งความสนใจไปที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในโคลัมเบีย หลังจากพบความเคลื่อนไหวและภัยคุกคามเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม Colombia's National Liberation Army (ELN) และกลุ่ม Revolutionary Armed Forces of Colombia (FARC)
สหรัฐฯ เชื่อว่า ทั้งสองกลุ่มนี้กำลังฉวยโอกาสจากวิกฤติการณ์ในเวเนซูเอลา เพื่อขยายปฏิบัติการและกิจกรรมผิดกฎหมายในบริเวณพรมแดนของเวเนซูเอลาและโคลัมเบีย เช่น การลับลอบค้ายาเสพติด
คุณเจเรมี แม็คเดอร์มอตต์ นักวิเคราะห์จากสถาบัน Insight Crime ในโคลัมเบีย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาล ปธน.มาดูโร ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฎบริเวณพรมแดนเวเนซูเอลาติดกับโคลัมเบีย เพื่อให้เป็น "กองกำลังกันชน" หากเกิดการแทรกแซงทางทหารจากโคลัมเบียหรือสหรัฐฯ เนื่องจากนักรบกลุ่มกบฎเหล่านี้เชี่ยวชาญดินแดนในแถบนี้เป็นอย่างดี
ขณะที่เอกอัคราชทูตโคลัมเบียประจำกรุงวอชิงตัน ฟรานซิสโก ซานโตส กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทั้งกลุ่ม ELN และ FARC ต่างมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจในเวเนซูเอลา จนกลายมาเป็นเสมือน "ทหารกองหนุน" ของกองทัพเวเนซูเอลาแล้วในขณะนี้
เมื่อเดือนมกราคม กลุ่มกบฎ ELN ได้กล่าวอ้างว่าเป็นผู้วางระเบิดรถยนต์โจมตีสถานฝึกตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองโบโกต้าของโคลัมเบีย ทำให้มีนักเรียนตำรวจเสียชีวิต 22 คน รวมทั้งมีการโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่ง วางระเบิดท่อส่งน้ำมัน และจับตัวทหารโคลัมเบียหลายคนไปเป็นตัวประกัน
รายงานขององค์กร International Crisis Group ประเมินว่า ขณะนี้กลุ่มกบฎ ELN กำลังเคลื่อนไหวอยู่ใน 13 รัฐ จากทั้งหมด 24 รัฐของเวเนซูเอลา
นอกจากนั้น มีรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่า กลุ่มกบฎ ELN ยังได้ใช้เวเนซูลาเป็นฐานในการลักลอบขนส่งยาเสพติด และลอบทำเหมืองแร่ผิดกฎหมายด้วย รวมทั้งเชื่อว่าบรรดาผู้นำของกลุ่ม ELN และ FARC เวลานี้กำลังกบดานอยู่ในเวเนซูเอลาด้วย
พลเรือเอก เคร็ก ฟอลเลอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคทางใต้ กล่าวว่า สหรัฐฯ ทราบดีถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มกบฎเหล่านี้ และเวลานี้กองทัพอเมริกันได้มีการประสานงานเพิ่มขึ้นกับทางกองทัพโคลัมเบียเพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้แล้ว
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เน้นย้ำหลายครั้งว่า ทางเลือกทุกอย่างที่จะนำมาใช้ในการกดดันประธานาธิบดีมาดูโรให้ลงจากตำแหน่ง ยังคงอยู่ในการพิจารณา รวมทั้งการใช้แนวทางทางการทหาร
ซึ่งพลเรือเอกฟอลเลอร์ ยืนยันว่า กองทัพสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคทางใต้เตรียมพร้อมตลอดเวลา หากประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจเลือกทางนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ผู้นี้ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ เตรียมจะใช้ หรือเห็นด้วยกับการใช้มาตรการทางทหารกับเวเนซูเอลาแต่อย่างใด