Your browser doesn’t support HTML5
การละลายของแผ่นน้ำเเข็งในทะเลขั้วโลกเหนือ ได้เปิดเส้นทางเดินเรือผ่านขั้วโลกเหนือที่เคยเต็มไปด้วยอันตรายจากภูเขาน้ำเเข็ง ทำให้มีจำนวนเรือสัญจรเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดอนน่า เฮาเซอร์ (Donna Hauser) แห่งมหาวิทยาลัยอลาสกา แฟร์แบงค์ส กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า เป้าหมายส่วนหนึ่งของการศึกษานี้คือเพื่อเข้าใจว่าปัญหาตอนนี้เป็นอย่างไร และจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อลดปัญหานี้
เฮาเซอร์สนใจศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขั้วโลกเหนือ เนื่องจากกิจกรรมการเดินเรือผ่านบริเวณนี้มากขึ้น และเพื่อหาทางปกป้องทั้งสัตว์ทะเลเหล่านี้ เเละคนที่ต้องพึ่งพาสัตว์ทะเลเหล่านี้เพื่อความอยู่รอด
เฮาเซอร์เเละทีมนักวิจัยได้ศึกษาสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 7 ชนิด ได้แก่ วาฬเบลูกาหรือวาฬขาว นาร์วาฬ วาฬหัวคันศร แมวน้ำวงแหวน แมวน้ำเครา วอลรัสเเละหมีขาวขั้วโลก
ทีมนักวิจัยได้ศึกษาระดับความเสี่ยงต่อสิ่งรบกวนที่เกิดจากการเดินเรือเพิ่มมากขึ้นในขั้วโลกเหนือในเดือนกันยายน เพราะสัตว์แต่ละประเภทมีความละเอียดอ่อนต่อสิ่งรบกวนไม่เท่ากัน โดยเดือนกันยายนเป็นช่วงที่น้ำเเข็งในทะเลอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เเละมีเรือเดินทางสัญจรผ่านทะเลขั้วโลกเหนือมากที่สุด
การวิจัยของทีมงานพบว่า นาร์วาฬเเละปลาวาฬพันธุ์อื่นๆ เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อผลกระทบมากที่สุดต่อบรรดาเรือที่เดินทางทะเลแห่งนี้ในช่วงปลายฤดูร้อน เเละหมีขาวขั้วโลกมีความเสี่ยงต่อผลกระทบน้อยที่สุด และวอลรัสและแมวน้ำมีความเสี่ยงต่อผลกระทบระหว่างกลางของสัตว์ทั้งสองกลุ่มข้างต้น
ผลการวิจัยนี้ไม่สร้างความแปลกใจเเก่ แรนดาล รีฟส์ (Randall Reeves) ประธานแห่งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Commission Committee of Scientific Advisors) เขากล่าวกับวีโอเอว่า นาร์วาฬ กับ วาฬเบลูกา เคยอาศัยในโลกที่เงียบสงบห่างไกลจากสิ่งรบกวนจากภายนอก เเละเสียงของเรือเจาะน้ำเเข็งเเละเรือชนิดอื่นๆ ที่สัญจรผ่านน่านน้ำจะไปรบกวนชีวิตของปลาวาฬเหล่านี้
ด้านคริสติน เลดเดอร์ (Kristin Laidre) แห่งศูนย์น้ำเเข็งขั้วโลกเหนือ (Polar Ice Center) ซึ่งเป็นสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่า เรือโดยทั่วไปจะสร้างเสียงใต้น้ำ เเละเสียงใต้น้ำที่เกิดขึ้นนี้จะไปรบกวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะปลาวาฬหลากหลายชนิดที่พึ่งพาเสียงเพื่อทำกิจกรรมเกือบทุกอย่าง
ส่วนหมีโพลาร์ สามารถรับมือกับการเดินเรือที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ได้ในเดือนกันยายน เลดเดอร์กล่าวว่า นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงนี้ของทุกปี หมีขาวมักจะขึ้นไปหากินบนแผ่นดินหรือไม่ก็ติดตามแผ่นน้ำเเข็งขึ้นไปทางเหนือ
เเละเพื่อช่วยปกป้องสัตว์สปีชี่ส์เฝ้าระวังและปลาวาฬชนิดต่างๆ ทีมนักวิจัยเเนะนำว่า ต้องมีข้อบังคับให้เรือเเล่นด้วยความเร็วต่ำเพื่อลดโอกาสชนปลาวาฬที่ว่ายน้ำหรือกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ ควรมีการกำหนดขีดจำกัดของระดับเสียงที่เรือสร้างจะช่วยปกป้องการได้ยินของปลาวาฬที่มีความละเอียดอ่อน
นักอนุรักษ์กล่าวว่า คงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะหยุดยั้งคนไม่ไห้เดินเรือผ่านทะเลขั้วโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม การเข้าใจว่าสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดบ้างที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ จะช่วยให้นักวิจัยวางแผนเพื่อปกป้องสัตว์เหล่านี้ได้ในอนาคต
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)