Your browser doesn’t support HTML5
คุณ Lilly Adams เป็นนักรณรงค์จากกลุ่ม Food and Water Watch กลุ่มเรียกร้องสิทธิ์ผู้บริโภค และกำลังล่าลายเซ็นจากผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องให้มีการลดใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำในการเลี้ยงปศุสัตว์ในสหรัฐฯ
ราว 80 เปอร์เซ็นของยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสหรัฐฯ ใช้ในปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าการปศุสัตว์แบบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วย เธอเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะแบบนี้ผิดต่อจุดประสงค์ของยา นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปยังก่อให้เกิดเชื้อเเบคทีเรียดื้อยาตามมาซึ่งสามารถแพร่ระบาดออกไปนอกฟาร์ม
การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันในปัจจุบันรักษาไม่ได้ผล นำไปสู่การเสียชีวิตทั่วโลกราวปีละ 700,000 ราย
คุณ Anna Zorzet นักวิทยาศาสตร์และนักรณรงค์ชี้ว่าแรงกดดันจากผู้บริโภคมีความสำคัญที่สุดในการผลักดันให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ คุณ Anna Zorzet กล่าวว่าสวีเดนเป็นชาติแรกในโลกที่ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต เมื่อปี ค.ศ. 1986 และสหภาพยุโรปเจริญรอยตามในปี 2006
เธอคิดว่าความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ต่อต้านการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปศุสัตว์มีบทบาทต่อเรื่องนี้
หลายประเทศในยุโรปเหนือได้ห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำในสัตว์ที่เเข็งแรงดีแล้วและยังเข้มงวดต่อการใช้ยาปฏิชีวนะในคนด้วย
มูลนิธิ National Farm Foundation ในสหรัฐอเมริกาชี้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ลง นาย Neil Conklin ประธานมูลนิธิแห่งนี้กล่าวว่า บรรดาหน่วยงานเผยแพร่ความรู้ได้เริ่มจัดงานสัมนาเพื่อเตรียมเกษตรกรในสหรัฐฯให้เข้าใจกับกฏระเบียบใหม่ของรัฐบาล ที่จะออกมาใช้ในปีค.ศ. 2017 นี้
นาย Neil Conklin ประธานมูลนิธิ National Farm Foundation กล่าวว่ากฏระเบียบใหม่ในสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่แก่บรรดาผู้เลี้ยงปศุสัตว์ สัตวแพทย์ และบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ เพราะอาหารสัตว์มักมียาปฏิชีวนะผสมอยู่
เขากล่าวว่าแม้แต่ก่อนหน้าที่กฏระเบียบใหม่ของสำนักงานอาหารและยาจะมีผลบังคับใช้ แรงกดดันจากผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทอาหารสัตว์บางแห่งในสหรัฐฯลดปริมาณยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ลง โดยรณรงค์ผ่านบริษัทอาหารฟาสฟู้ดชั้นนำในสหรัฐฯ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Chick-fil-A บริษัท Subway บริษัท McDonalds บริษัท Tyson และบริษัท Purdue
และการรณรงค์ยังไม่หยุดยั้งแค่นี้ บรรดานักรณรงค์ชาวอเมริกันต่างหวังว่าการเดินหน้ารณณงค์ต่อไปอย่างไม่ลดละ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในสหรัฐฯ จะช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อโรคดื้อยาทั่วโลกลงได้ในอนาคต
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว / วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)