'Fountain of Youth หรือ น้ำพุแห่งความเยาว์วัย' เป็นตำนานที่เล่าขานกันมาหลายร้อยปี แต่ก็ไม่เคยมีใครค้นพบ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันการแพทย์ เมโย คลินิก (Mayo Clinic) กำลังพยายามคิดค้นยาชนิดใหม่ โดยหวังว่าจะสามารถกลายเป็น “ยาอายุวัฒนะ” ที่ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ หรือชะลอการเกิดโรคที่มักจะมาพร้อมกับจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นได้
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ กำลังวังชาที่ลดลง รอยเหี่ยวย่นตามร่างกาย และโรคร้ายต่างๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์วิจัยด้านการสูงวัย ของ เมโย คลินิก กล่าวว่า ในสหรัฐฯ ราว 80% ของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ คือค่ารักษาโรคที่เกี่ยวกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น
เวลานี้นักวิทยาศาสตร์ที่ เมโย คลินิก กำลังพยายามคิดค้นยาหรือแนวทางชนิดใหม่ โดยหวังว่าจะช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ หรือชะลอการเกิดโรคที่มักจะมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นได้ ด้วยการปรับสภาพของกลไกการแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งเวลานี้กำลังมีการทดลองวิธีดังกล่าวกับหนูทดลอง
นายแพทย์ เจมส์ เคิร์กแลนด์ ผอ. ศูนย์วิจัยด้านอายุ ของ เมโย คลินิก ชี้ว่า แนวคิดนี้คือการพิจารณาไปที่สาเหตุของการเกิดโรคในผู้สูงอายุ และพยายามหาทางชะลอการเกิดโรคเหล่านั้นเพื่อเพิ่มระยะเวลาของการมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นและนานขึ้น
นายแพทย์เคิร์กแลนด์ เน้นย้ำว่า แนวทางที่ทางสถาบันกำลังมุ่งศึกษานั้น คือการค้นหาว่าทำอย่างไรจึงจะสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการมีอายุยืนยาวเท่านั้น
เมโย คลินิก ได้ค้นพบยาประเภทเซโนลีติก (senolytic) ที่สามารถทำลายเซลล์ที่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของเซลล์อื่นๆ และทำให้เกิดการแก่ตัวในหนูทดลอง โดยไม่ไปทำร้ายเซลล์ที่แข็งแรง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปกติแล้วเซลล์ไม่ดีหรือเซลล์เสื่อมสภาพเหล่านั้นมักมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อแก่ตัวลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับอายุขัย โดยขั้นต่อไปคือการทดลองใช้กับคนจริงๆ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับอายุขัยดังกล่าว
นายแพทย์เคิร์กแลนด์ ระบุว่า สูตรยาเซโนลีติกแต่ละสูตรอาจให้ผลที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ ดังนั้นยังต้องมีการศึกษาและปรับปรุงสูตรยาชนิดนี้อีกมากเพื่อให้เหมาะสมกับคนแต่ละคน ทั้งในส่วนของผลลัพธ์และความปลอดภัย
นักวิจัยแห่งเมโย คลินิก เชื่อว่า หากในขั้นตอนของการทดสอบเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับอายุขัยนั้นได้ผลน่าพอใจ ขั้นต่อไปก็คือการพัฒนายานี้ให้เป็นยาที่ช่วยป้องกันหรือชะลอการแก่ตัวลงได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของอนาคต
แต่เมื่อเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น อย่างน้อยสิ่งที่นักวิจัยเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นก็คือ เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพื่อลดโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อการแก่ตัวอย่างมีความสุข ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับของความเยาว์วัยที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวเลขจำนวนปีที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ แต่อย่างใด
(ผู้สื่อข่าว Maia Kay รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)