มนุษย์โบราณจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณหมู่เกาะในแอฟริกาเมื่อหนึ่งพันกว่าปีก่อน การวิจัยทางพันธุกรรมและภาษาได้ยืนยันว่า ผู้อยู่อาศัยบนเกาะ Madagascar พูดภาษาที่มีเอกลักษณ์เหมือนภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีต้นตอพันธุกรรมที่คล้ายกับชาว Malaysian และ Polynesian
แต่จนบัดนี้ ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่าผู้อาศัยกลุ่มแรกๆ คือนักเดินทางจากอีกฝากฝั่งของมหาสมุทร Indian
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bristol มหาวิทยาลัย Oxford และ มหาวิทยาลัย Queensland ศึกษาพืชที่ปลูกตั้งแต่โบราณใน Madagascar และบริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก เพื่อค้นหาว่าพืชเหล่านี้เป็นพืชพื้นเมือง หรือถูกนำมาเพาะปลูกจากต่างถิ่น
ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบซากพืชกว่า 2,500 ชนิด มาจากถิ่นฐานโบราณทั้งหมด 18 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการค้นพบพืชที่พบได้ง่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ข้าว และถั่วเขียว ใน Madagascar อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน การค้นหาโบราณสถานในทวีปแอฟริกาและหมู่เกาะนอกชายฝั่ง พบว่าพืชส่วนใหญ่ เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าไข่มุก และต้นเบาบับ เติบโตในสภาพแวดล้อมเอง
งานวิจัยชิ้นนี้ได้เขียนลงใน Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งนักวิจัยได้นำเสนอข้อมูลว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปตั้งรกรากในแอฟริกา ได้นำพืชจากเอเชียติดตัวไปด้วย
โดยนักวิจัยได้กล่าวว่า “พืชเหล่านี้ คือหลักฐานโบราณคดีที่หนักแน่นและเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ และแสดงให้เห็นถึงการอพยพของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปใน Madagascar”
นอกเหนือจากการค้นพบซากพืชใน Madagascar แล้ว นักวิจัยยังพบพืชจากเอเชียในหมู่เกาะ Comoros ซึ่งเป็นหมู่เกาะบริเวณใกล้เคียง Madagascar ถึงแม้ว่าชาว Comoros จะพูดภาษาแอฟริกัน และไม่น่าจะมีต้นตอพันธุกรรมของชาว Austronesian แต่การที่มีการปลูกข้าวและถั่วเขียว แสดงให้เห็นว่าการอพยพของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้หยุดแค่เพียงที่ Madagascar
กลุ่มนักวิจัยสรุปงานเขียนไว้ว่า มีความเป็นไปได้ว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตั้งรกรากในหมู่เกาะ Comoros และในเวลาต่อมาถูกกลืนทางภาษาและทางพันธุกรรม