Your browser doesn’t support HTML5
Enterococci เป็นกลุ่มเชื้อเเบคทีเรียหนึ่งในหกกลุ่มที่ได้ชื่อว่า “ซุปเปอร์บัค” ที่ทำให้คนป่วยในโรงพยาบาลติดเชื้อและดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เป็นเหตุให้เชื้อโรคมีความร้ายเเรงจนอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชึวิตได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อเเบคทีเรียกลุ่ม Enterococci เริ่มปรับตัวต่อสภาพเเวดล้อมที่ไม่เอื้อเมื่อประมาณ 450 ล้านปีที่แล้ว นานก่อนหน้าที่ไดโนเสาร์จะถือกำเนิดขึ้นบนโลก
ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เชื้อเเบคทีเรียดังกล่าวนี้อยู่ในสิ่งปฏิกูลที่สัตว์ขนาดเล็กถ่ายลงบนพื้นดิน และเชื้อเเบคทีเรียนี้สามารถอยู่รอดมาได้เเม้ในสภาพเเวดล้อมที่เลวร้าย อาทิ โดนเเดดเผา
เชื้อเเบคทีเรียโบราณนี้ถูกพบเเช่เเข็งอยู่ในแผ่นน้ำเเข็งอายุ 30,000 ปีและนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่สามารถทำให้เชื้อเเบคทีเรียนี้ฟื้นคืนชีวิตได้อีก
Michael Gilmore นักจักษุวิทยาและนักจุลชีววิทยา หัวหน้าโครงการศึกษาเชื้อเเบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าเชื้อเเบคทีเรียกลุ่ม Enterococci มีความทนทานมากเหมือนกับเเมลงสาบที่ตายยาก
ทีมงานคิดว่าเชื้อเเบคทีเรียซุปเปอร์บัคที่พบในปัจจุบัน สืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อเเบคทีเรียบรรพบุรุษที่พัฒนาความทนทานขึ้น เพื่อช่วยให้เชื้อเเบคทีเรียอยู่รอดในสภาพเเวดล้อมบนพื้นโลก หลังจากมีการกำเนิดขึ้นของสัตว์บนโลกที่มาจากทะเล
Gilmore เป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อเเบคทีเรีย 24 ชนิดในกลุ่มเชื้อเเบคทีเรีย Enterococci และผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ไปเมื่อไม่นานมานี้
จากการศึกษาที่วิเคราะห์ถึงลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อเเบคทีเรียกลุ่มนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นคว้าได้ว่าเชื้อเเบคทีเรียกลุ่ม Enterococci มีบรรพบุรุษที่กำเนิดขึ้นในช่วงของ “‘การระบิดทางชีวภาพในยุคแคมเบรียน’’ เมื่อ 542 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นพร้อมๆกันโดยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอาศัยอยู่ในทะเล
เชื้อเเบคทีเรียโบราณนี้อยู่ในลำไส้ของสัตว์เลื้อยคลานในช่วงหนึ่งล้านปีต่อมา เเละเริ่มพัฒนาความทนทานต่อสภาพเเวดล้อมมากขึ้น
Gilmore ผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเขากำลังศึกษาค้นคว้ายีนของเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาทางพัฒนาวิธีใหม่ๆ มารับมือกับเชื้อเเบคทีเรียดื้อยารุนแรง หรือซุปเปอร์บัค
เขากล่าวว่าการศึกษาลักษณะความทนทานแบบต่างๆ ของเชื้อเเบคทีเรียโบราณชนิดนี้ จะช่วยให้ทีมงานสามารถคิดค้นยาตัวใหม่ๆ ขึ้นมาจัดการกับเชื้อเเบคทีเรียซุปเปอร์บัคได้ในอนาคต
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว )