ศาลเมียนมาสั่งจำคุก ‘แดนนี เฟนสเตอร์’ นักข่าวอเมริกัน 11 ปี

This undated photo provided by the family courtesy shows Danny Fenster posing for a photo in Yangon, Myanmar. A court in military-ruled Myanmar on Friday, Nov. 12, 2021, sentenced detained U.S. journalist Fenster to 11 years in prison. (family courtesy photo via AP)

ศาลเมียนมาในวันศุกร์มีคำสั่งตัดสินจำคุกผู้สื่อข่าวอเมริกัน แดนนี เฟนสเตอร์ เป็นเวลา 11 ปี ฐานยุยงส่งเสริมให้ต่อต้านกองทัพเมียนมา การจัดสมาคมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดฝ่าฝืนกฎหมายคนเข้าเมือง ตามการให้ข้อมูลของทนายและนายจ้างของเฟนสเตอร์

ตัน ซอ ออง ทนายของเฟนสเตอร์กล่าวกับวีโอเอว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะยื่นอุทธรณ์ และยังเผยว่าเฟนสเตอร์ยังต้องเจอข้อหาเพิ่มเติมอีกด้วย คือการปลุกปั่นต่อต้านรัฐบาลและการก่อการร้าย ซึ่งอาจจะทำให้เขาต้องถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งทนายความของผู้สื่อข่าวอเมริกันกล่าวก่อนหน้านี้ว่าเขาไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมลูกความของตนถึงเจอข้อหาเพิ่มเติม

ส่วนฟรอนเทียร์ เมียนมา (Frontier Myanmar) เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่เฟนสเตอร์ทำงานเป็นบรรณาธิการก่อนที่จะถูกจับตัวนั้นออกแถลงการณ์ในวันศุกร์ว่า “ทุกคนที่ฟรอนเทียร์รู้สึกผิดหวังและอึดอัดคับข้องใจกับคำตัดสินของศาลเป็นอย่างมาก ”

ข้อหาเดิม

เฟนสเตอร์ถูกจับตัวที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งในเดือนพฤษภาคม ขณะที่เขากำลังขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการบินผ่านประเทศมาเลเซีย

ทนายของเฟนสเตอร์บอกกับวีโอเอว่าตอนที่ถูกจับนั้น ตำรวจเข้าใจว่าเฟนสเตอร์ทำงานให้สื่อ Myanmar Now ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อห้าแห่งที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการในเดือนเมษายน เฟนสเตอร์นั้นทำงานที่ Myanmar Now ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 ก่อนที่จะลาออกก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ

FILE - This undated file photo released June 4, 2021, courtesy of the Fenster family, shows US journalist Danny Fenster working in New Iberia, Louisiana.

ปฏิกิริยาของสหรัฐฯ

โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ บอกกับวีโอเอในวันพุธว่าเฟนสเตอร์ควรจะได้รับการปล่อยตัวโดยทันที โดยกล่าวว่ากระทรวงต่างประเทศรับทราบว่ามีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมต่อเฟนสเตอร์ และการคุมขังผู้สื่อข่าวอเมริกันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นธรรม และขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวเฟนสเตอร์เพราะการทำข่าวนั้นไม่ใช่อาชญากรรม

ก่อนหน้านี้เมื่อวีโอเอสอบถามไปยังโฆษกของกระทรวงต่างประเทศ นายไพรซ์ตอบว่าการช่วยให้เฟนสเตอร์ได้รับการปล่อยตัวเป็นภารกิจที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นของกระทรวง

เมื่อต้นปีกองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่าการเลือกตั้งที่มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมานั้นมีการโกง นอกจากนั้นยังได้คุมขังนางอองซานซูจี และประธานาธิบดี วิน มินท์ พร้อมตั้งข้อหาทั้งสองคนอีกด้วยอีกด้วย

การรัฐประหารทำให้ประชาชนชาวเมียนมาหลายพันคนออกมาประท้วงบนท้องถนนและปฏิเสธที่จะไม่ทำงานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร แต่กองทัพได้ทำการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,252 คน จากการรายงานของ Assistance Association for Political Prisoners นอกจากนั้นยังมีผู้สื่อข่าวและตัวแทนสื่อมวลชนกว่า 100 คนที่ถูกจับกุมในระหว่างที่มีการปราบปราม จากการเก็บข้อมูลของ Reporting ASEAN

FILE - Police arrest a journalist in Yangon on February 27, 2021, as protesters were taking part in a demonstration against the military coup.

การทำงานข่าวที่สุ่มเสี่ยงในเมียนมา

ในขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวในเมียนมาต่างก็ได้กล่าวว่าการทำข่าวในประเทศนั้นเกือบจะเป็นไปไม่ได้ และเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูง

นักข่าวฟรีแลนซ์ชาวเมียนมา ซึ่งใช้นามแฝงว่า เคพ ไดมอนด์ เพื่อปกป้องตัวตนที่แท้จริงของตัวเองให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า การที่นักข่าวอย่างเฟนสเตอร์ต้องถูกตั้งข้อหานั้นไม่ได้สร้างความตกตะลึงอีกต่อไป

เขาให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า “นักข่าวในเมียนมานั้นได้รับรู้แล้วว่าประเทศของพวกเขาไม่มีเสรีภาพในการรายงานข่าว น้กข่าวท้องถิ่นชาวเมียนมาตระหนักดีว่าพวกเขาอาจจะถูกตั้งข้อหาเดียวกันหล่านั้นได้ทุกเวลา”

ด้าน อาย ชาน เนียง ผู้อำนวยการข่าวของ Democratic Voice of Burma สถานีโทรทัศน์ของเมียนมาซึ่งถูกห้ามออกอากาศตามคำสั่งของรัฐบาลทหารเมียนมา บอกกับวีโอเอว่าการเป็นนักข่าวในเมียนมานั้น “เป็นตั๋วที่จะนำไปสู่การจับกุม” นอกจากนี้รัฐบาลทหารนั้นยังมีรายชื่อของเป้าหมายที่พวกเขาต้องการเล่นงานอีกด้วย

“ผู้พิพากษานั้นทำตามคำสั่งของกองทัพ โดยที่ไม่มีอะไรอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย (ข้อหาที่มีต่อเฟนสเตอร์) นั้นเป็นการทำไปเพื่อขู่ให้นักข่าวท้องถิ่นคนอื่นๆกลัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็ต้องเข้าคุก” อาย ชาน เนียงยังกล่าวด้วยว่าเฟนสเตอร์นั้นไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบใดๆ เพราะเมียนมาขณะนี้เป็นประเทศที่ไม่มีขื่อไม่มีแป

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเฟนสเตอร์

จอห์น ควินลีย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนแห่งฟอร์ติฟาย ไรทส์ (Fortify Rights) บอกกับวีโอเอว่าทางกลุ่มได้จับตาดูสถานการณ์ของผู้ที่ถูกจับตัวในเมียนมาตั้งแต่มีการรัฐประหาร และเห็นได้ชัดว่าเฟนสเตอร์ถูกเล่นงานอย่างจงใจ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันคนดังกล่าว

ด้านนาย มาร์ค ฟาร์มาเนอร์ ผู้อำนวยการของ เบอร์มา แคมเปญ ยูเค (Burma Campaign UK) กล่าวว่าเขาเชื่อว่าการตั้งข้อหาเพิ่มต่อแดนนี เฟนสเตอร์ เป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะมีใช้มาตรการที่แรงขึ้นต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น สกัดการหมุนเวียนของเงินและอาวุธที่จะไปสู่กองทัพเมียนมา รวมทั้งตัดรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติของเมียนมาด้วย

นักวิเคราะห์เมียนมา ออง ทู เนียน กล่าวว่าเขาเชื่อว่าเฟนสเตอร์ยังมีโอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัว เขามองว่าคำตัดสินให้จำคุกเฟนสเตอร์นั้นเป็นการตัดสินที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ผู้สื่อข่าวอเมริกันยังมีสิทธิได้รับการปล่อยตัว หากทางรัฐบาลทหารเมียนมา สามารถตอบสนองหรือมีข้อแลกเปลี่ยนทางการทูตรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับประเทศตะวันตกจนเป็นที่น่าพอใจ