รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมา คืนอำนาจให้กับประชาชนหลังเข้าปกครองประเทศครบ 1 ปี ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า สถานการณ์ด้านวิกฤตมนุษยธรรมในเมียนมากำลังทรุดหนักลง ขณะที่เหตุความขัดแย้งในประเทศและสภาพเศรษฐกิจของประเทศยกระดับรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในวันจันทร์ว่า กองทัพเมียนมาควรจะนำพาประเทศของตนกลับคืนสู่ “วิถีแห่งประชาธิปไตยอันแท้จริงและเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” หลังครบรอบ 1 ปีการก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ จากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นาง ออง ซาน ซู จี
รมต.บลิงเคน กล่าวว่า “เรา(สหรัฐฯ) นับถือในความพยายามของชาวพม่าที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหลักนิติธรรมของประเทศ ซึ่งรวมความไปถึงผู้บริสุทธิ์กว่า 1,300 คนที่สูญเสียชีวิตเพื่อการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้”
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์และการดำเนินการปราบปรามด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาตลอดหลังจากวันนั้น ได้บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ทั้งยังเป็นการนำประเทศถอยห่างออกจากความพยายามที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่เดินหน้ามาถึง 1 ทศวรรษแล้วด้วย
ขณะเดียวกัน ยูเอ็น ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมา “ให้ความเคารพต่อจิตวิญญาณของประชาชน และนำพาประเทศกลับคืนสู่เส้นทางเปลี่ยนถ่ายไปยังเป้าหมายของประชาธิปไตยอีกครั้ง” ด้วย
สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกยูเอ็นกล่าวในวันจันทร์ด้วยว่า การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้วนั้น “ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติและจากภายในประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นการลงคะแนนที่มีเสรีภาพและความยุติธรรมจริง” และว่า “องค์การสหประชาชาติยังคงมีความกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นในเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุพลัดถิ่นของประชาชน อันมีผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย รวมทั้งกระทบประชาชนที่เป็นสตรีมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นด้วย”
นอกจากนั้น มาร์ติน กริฟฟิธ หัวหน้าคณะทำงานด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น เปิดเผยว่า ความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงความช่วยเหลือที่นำส่งเข้าเมียนมานั้น “เป็นไปอย่างจำกัดมาก” เนื่องจาก “อุปสรรคด้านระบบราชการ” ที่กองทัพเมียนมาประกาศบังคับใช้
ข้อมูลจากยูเอ็นแสดงให้เห็นว่า ก่อนการก่อรัฐประหารเมื่อต้นปีนั้น มีประชาชนในเมียนมาราว 1 ล้านคนที่อยู่ในภาวะยากแค้นและต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวได้พุ่งขึ้นมาถึงระดับ 3 ล้านคนแล้ว ขณะที่ ผู้คนนับแสนถูกบีบบังคับให้ละทิ้งบ้านเรือนเพื่อเอาชีวิตรอด นับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบมากมายหลังการเลือกตั้ง
และขณะที่ โครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นนั้นอยู่ในภาวะขาดแคลนเงินทุนหนักถึงราว 200 ล้านดอลลาร์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันจันทร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ตามคำร้องขอจากอังกฤษแล้ว